กรุงเทพฯ--9 พ.ค.--บีโอไอ
บอร์ดบีโอไอเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ "สมาร์ทซิตี้" เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยใช้ระบบอัจฉริยะ พร้อมเปิดส่งเสริมกิจการพัฒนาที่พักอาศัยสำหรับแรงงานมาตรฐานสากล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานไทยและต่างด้าวทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และขยายเวลาการให้ส่งเสริมใน 10 เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนออกไปสิ้นสุดในปี 2563
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บอร์ดบีโอไอ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบมาตรการสำคัญหลายเรื่องที่จะส่งผลดีต่อประเทศในหลายมิติ ทั้งเรื่องคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน การพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ และคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานทั้งไทยและต่างด้าวในประเทศไทย
มาตรการส่งเสริมการลงทุนกิจการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City)
ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนกิจการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City)เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในด้านคมนาคมขนส่ง (Smart Mobility) ด้านการศึกษาและความเท่าเทียมกันในสังคม (Smart People) ด้านความปลอดภัย (Smart Living) ด้านความสะดวกในการทำธุรกิจ (Smart Economy) ด้านบริการจากภาครัฐ (Smart Governance) และด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (Smart Energy & Environment) โดยการส่งเสริมการลงทุนจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. กิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ ซึ่งจะให้ส่งเสริมแก่ผู้ที่จะเข้ามาพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่เมืองอัจฉริยะซึ่งต้องลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารที่รองรับระบบอัจฉริยะด้านต่างๆ เช่น Fiber Optic, Public Wifi ด้านการบริหารจัดการข้อมูล (Open Data Platform) และต้องจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะพื้นฐานทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ Smart Mobility, Smart People, Smart Living, Smart Economy, Smart Governance และ Smart Energyและ 2. ให้ส่งเสริมแก่ผู้ที่จะมาพัฒนาระบบอัจฉริยะในด้านต่างๆ ซึ่งต้องพัฒนา ติดตั้ง และให้บริการระบบเมืองอัจฉริยะที่เหมาะสมอย่างน้อย 1 ด้านจาก 6 ด้านข้างต้น โดยทั้งสองกิจการนี้จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี (มูลค่ายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 100 ของเงินลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน)
"รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนใน 6 ด้าน จึงให้ส่งเสริมแก่นักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของการเป็นเมืองอัจฉริยะ และให้ส่งเสริมนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนระบบต่างๆ ซึ่งประชาชนจะได้รับประโยชน์ในหลายๆ ด้าน อาทิ มีระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพเชื่อมโยงกันทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศมีความเท่าเทียมกันในสังคมทั้งผู้พิการและผู้สูงอายุมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีความคล่องตัวในการทำธุรกิจและการติดต่อขอรับบริการจากหน่วยงานภาครัฐ มีการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า และการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี" เลขาธิการบีโอไอกล่าว
ยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ที่ประชุมยังเห็นชอบให้บีโอไอปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับกิจการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น แบ่งเป็น 1. หากลงทุนในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)หรือ เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 13 ปี 2. หากลงทุนในพื้นที่นิคมหรือเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Park) นอกพื้นที่อีอีซี จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 12 ปี
สร้างคุณภาพชีวิตแรงงาน
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบเปิดส่งเสริมการลงทุนแก่ "กิจการพัฒนาที่พักอาศัยสำหรับแรงงานมาตรฐานสากล" ทั้งสำหรับแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว โดยต้องเป็นที่พักที่ได้มาตรฐานตามแนวทางขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยสำหรับแรงงานที่มีคุณภาพสอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากล แก้ปัญหาความแออัดของชุมชน และสภาพของที่พักอาศัยซึ่งไม่ถูกสุขลักษณะและเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน
ทั้งนี้ กิจการลงทุนก่อสร้างที่พักอาศัยสำหรับแรงงานมาตรฐานสากล สามารถดำเนินการได้ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ หากตั้งกิจการในพื้นที่ทั่วไปจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี (เฉพาะรายได้จากค่าเช่าที่พักอาศัย และกำหนดวงเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะได้รับยกเว้นไม่เกินร้อยละ 100 ของเงินลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนตามหลักเกณฑ์) และหากตั้งใน 10 เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 จังหวัดจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 6 ปีโดยผู้ขอส่งเสริมจะต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2562
สนับสนุนการเป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาค
ที่ประชุมยังได้พิจารณาแนวทางส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศที่ทันสมัย เพื่อพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาค โดยสามารถรองรับการขยายตัวของธุรกิจ E-Commerce และ E-Logistics รวมถึงการปรับเปลี่ยนประเทศไทยไปสู่ระบบดิจิทัล ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าและการลงทุน จึงเปิดให้ส่งเสริม "กิจการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบอัจฉริยะ" และกำหนดให้เป็นหนึ่งในกิจการเป้าหมายที่จะได้รับสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายและนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริม อาทิ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี (กำหนดวงเงินสูงสุดที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเท่ากับร้อยละ100 ของเงินลงทุน โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) สำหรับรายได้จากการให้บริการกระจายสินค้าระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ กำหนดให้รูปแบบการลงทุนจะต้องมีการจ้างบุคลากรไทยในสาขาที่เกี่ยวข้องกับด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยตรง เช่น วิศวกรรมศาสตร์ ปัญญาประดิษฐ์และData Science เป็นต้น และต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) หรือจัดการข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Digital Transactions โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูงและดำเนินการในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังต้องจัดให้มีการฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูง เช่น Big Data และData Analytics เป็นต้น ทั้งนี้ ต้องมีการวิจัยและพัฒนาหรือร่วมมือในโครงการวิจัยและพัฒนากับสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยของประเทศไทย เป็นต้น
ขยายเวลาส่งเสริมการลงทุนใน SEZ ถึงสิ้นปี 2563
ที่ประชุมได้พิจารณาขยายระยะเวลาการขอรับสิทธิประโยชน์ตามนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ 10 จังหวัด (ตาก ตราด มุกดาหาร สระแก้ว สงขลา เชียงราย หนองคาย นครพนม กาญจนบุรีและนราธิวาส) ออกไปจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 (เดิมสิ้นสุดวันที่ 30 ธันวาคม 2561) เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนมากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนหลายรายกำลังจะเข้าไปพัฒนาพื้นที่ในหลายเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จึงควรขยายเวลาเพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุน ทั้งกลุ่มที่จะเข้าไปพัฒนาพื้นที่และกลุ่มที่จะเข้าไปลงทุนตั้งกิจการ