กรุงเทพฯ--9 พ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผย 70 หน่วยงานจากภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมรับฟัง – แสดงความคิดเห็น การร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่งมีกลุ่มที่ให้ความสนใจ อาทิ กลุ่มธุรกิจพลังงาน กลุ่มธุรกิจท่าเรือของเหลว กลุ่มสถาบันการเงิน กลุ่มธุรกิจก่อสร้าง โดย กนอ. ได้จัดทำรูปแบบการลงทุน 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่ 1) กนอ.เป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และเอกชนลงทุนการก่อสร้างท่าเทียบเรือบนพื้นที่ถมทะเล กับรูปแบบที่ 2 เอกชนเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และ ท่าเทียบเรือบนพื้นที่ถมทะเลทั้งหมด ซึ่งภายหลังจากการ รับฟังความคิดเห็นพบว่า มีเอกชนสนใจร่วมลงทุนทั้ง 2 รูปแบบ โดยกนอ.คาดว่าจะพร้อมประกาศเชิญชวนเอกชนให้เข้าร่วมลงทุนได้ภายในเดือนสิงหาคม 2561 และจะทำการลงนามในสัญญาร่วมกับผู้ที่ได้รับการคัดเลือกภายในเดือนธันวาคมปีนี้
นายอัฐพล จิรวัฒน์จรรยา รักษาการผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.)ได้เห็นชอบให้การพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรม มาบตาพุด ระยะที่ 3 บรรจุอยู่ใน EEC Project List หรือ 1 ใน 5 โครงสร้างพื้นฐานหลักที่สำคัญในการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ล่าสุด กนอ.ได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนและขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการดังกล่าว ด้วยการนำความเชี่ยวชาญในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการสัมมนาการรับฟังความคิดเห็น (Market Sounding) โดยได้รับความสนใจกว่า 70 หน่วยงาน จากภาคเอกชนที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน งานระบบสาธารณูปโภค งานบริหารจัดการท่าเรืออุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนบริษัทรับเหมาก่อสร้าง สถาบันการเงิน บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินและกฎหมาย รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานสัมมนา
นายอัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า กนอ.ได้มอบหมายให้ที่ปรึกษาจัดทำรูปแบบในการลงทุน โดยมีหลักการสำคัญคือ ต้องเป็นรูปแบบที่มีผลตอบแทนทางการเงินที่เหมาะสมทั้งต่อ กนอ.และภาคเอกชน คือ ไม่เกิดภาระทางการคลัง หรือ เกินความสามารถในการลงทุนของภาคเอกชน และมีผลตอบแทนทางการเงินที่เหมาะสม ซึ่งแบ่งเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่ 1) กนอ.เป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด มีมูลค่าประมาณ 12,900 ล้านบาท และเอกชนลงทุนการก่อสร้างท่าเทียบเรือบนพื้นที่ถมทะเล มูลค่าประมาณ 39,300 ล้านบาท จำแนกเป็นท่าเทียบเรือของเหลว ท่าเทียบเรือก๊าซ และพื้นที่เช่า (150 ไร่) กับรูปแบบที่ 2)เอกชนเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และ ท่าเทียบเรือบนพื้นที่ถมทะเลทั้งหมด ทั้งนี้ ภายหลังจากการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนพบว่า มีกลุ่มธุรกิจที่ให้ความสนใจในการลงทุน 3 ประเภท คือ กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจพลังงานรวมถึงปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจท่าเรือของเหลว และกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจสายการเดินเรือของเหลว
อย่างไรก็ดี จากการที่เอกชนให้ความสนใจร่วมลงทุนในทั้ง 2 รูปแบบ กนอ.จะนำมาพิจารณา และจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องและสามารถตอบสนองแรงจูงใจของภาคเอกชนในการลงทุน และจะต้องเกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาครัฐ โดยได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการดำเนินการเพื่อการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน คาดว่าการศึกษาและวิเคราะห์โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 จะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2561 พร้อมประกาศเชิญชวนเอกชนได้ภายในเดือนสิงหาคม 2561 โดยเอกชนที่สนใจลงทุน/ร่วมลงทุนยื่นข้อเสนอภายในเดือนตุลาคม 2561 และจะลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกภายในเดือนธันวาคม 2561
ทั้งนี้ กนอ.ยังได้นำเสนอให้เอกชนรับทราบว่า กนอ. ได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ให้แล้วเสร็จ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (สผ.) นายอัฐพล กล่าวสรุป
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจรายละเอียด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองประชมาสัมพันธ์ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถนนนิคมมักกะสัน กรุงเทพฯ โทร. 02 2530561 หรืออีเมลinvestment.1@ieat.mail.go.th