กรุงเทพฯ--9 พ.ค.--ก.ล.ต.
ก.ล.ต. เปิดเผยความคืบหน้าของโครงการจัดการกองทุนรวมภูมิภาคเอเชียข้ามพรมแดนภายใต้กรอบเอเปค (Asia Region Funds Passport: ARFP) เพื่อเปิดให้สามารถเสนอขายกองทุนรวมระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งประกอบด้วยออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไทย โดยเตรียมเริ่มโครงการนำร่องภายในสิงหาคม 2561
สืบเนื่องจากการประชุม ARFP เมื่อวันที่ 25-26 เมษายน 2561 มีสมาชิกจากหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนจากออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไทย พร้อมกับผู้สังเกตการณ์จากหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนของสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และฮ่องกงเข้าร่วมประชุมเพื่อหารือร่วมกันเกี่ยวกับขั้นตอนต่อไปในการเสนอขายกองทุนรวมภายใต้โครงการ ARFP ซึ่งได้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2013
ในการหารือพบว่าการดำเนินการคืบหน้าตามแผนโดยในด้านการออกกฎหมายและกฎเกณฑ์เพื่อรองรับโครงการ ARFP ของประเทศสมาชิกนั้น ญี่ปุ่นและไทยได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้อยู่ระหว่างเสนอร่างกฎหมายให้ผ่านการพิจารณาของสภา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 นี้
ปัจจุบันคณะทำงาน ARFP อยู่ระหว่างสรรหาผู้เข้าร่วมโครงการนำร่อง (Pilot project) โดยให้บริษัทจัดการกองทุนรวม และผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้อง ได้ทดลองดำเนินงานภายใต้โครงการ ARFP ร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแล โดยหน่วยงานกำกับดูแลจะอำนวยความสะดวกให้การดำเนินงานของโครงการนำร่องเป็นไปอย่างราบรื่น ตั้งแต่กระบวนการพิจารณาใบสมัครจนถึงการให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมายและภาษี โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มโครงการนำร่องได้ในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2561 นี้ จากนั้นจะมีการประเมินกระบวนการดำเนินงานเพื่อดูว่ามีส่วนใดของกระบวนการที่สามารถปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ทั้งในฝั่งประเทศที่กองทุนจัดตั้ง (home country) และประเทศที่กองทุนไปเสนอขาย (host country)
ทั้งนี้ ประโยชน์ของ ARFP คือ ขยายโอกาสและเพิ่มช่องทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการไทยในการนำกองทุนรวมไทยไปเสนอขายในประเทศที่นักลงทุนมีศักยภาพ และเป็นการเพิ่มทางเลือกการลงทุนให้ผู้ลงทุนไทย
นอกจากนี้ คณะทำงาน ARFP ยังได้มีการหารือกันในประเด็นอื่น ๆ อาทิ การเพิ่มจำนวนประเทศสมาชิก การปรับปรุงเนื้อหาของคู่มือการดำเนินงาน ARFP และการนำเสนอข้อมูลจากคณะทำงานด้านภาษี โดยตกลงที่จะมีเอกสารระบุข้อมูลทางภาษีของประเทศสมาชิกสำหรับการเสนอขายกองทุนรวมภายใต้โครงการ ARFP รวมทั้งการวางแผนจัดงานประชุมกับผู้ประกอบการธุรกิจ เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการขยายธุรกิจ รวมถึงความท้าทายต่าง ๆ ภายใต้โครงการ ARFP อาทิ ความเป็นไปได้ในการปรับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของประเทศสมาชิก และภาระภาษี ซึ่งในกรณีของไทย ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้สื่อสารกับภาคเอกชนเพื่อเตรียมความพร้อมในการขยายตลาดไปยังต่างประเทศและพร้อมรับมือกับ passport fund จากต่างประเทศที่มาเสนอขายในไทยได้
หมายเหตุ:
1. โครงการจัดการกองทุนรวมภูมิภาคเอเชียข้ามพรมแดนภายใต้กรอบเอเปค (ARFP) เป็นความร่วมมือเพื่ออำนวยความสะดวกในการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่อประชาชนทั่วไประหว่างประเทศสมาชิก โดยกองทุนรวมที่เป็นไปตามเกณฑ์กลางของ ARFP และได้รับความเห็นชอบจากประเทศหนึ่ง (home country) สามารถไปเสนอขายหน่วยลงทุนต่อประชาชนในอีกประเทศหนึ่ง (host country) ได้ ผ่านตัวกลางหรือตัวแทนขายที่ได้รับอนุญาตของhost country
2. เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ และไทย ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกความร่วมมือ (Memorandum of Cooperation on the Establishment and Implementation of the Asia Region Funds Passport: MOC) และคณะทำงานได้ถูกจัดตั้งขึ้นภายใต้บันทึกความร่วมมือดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้มีการดำเนินโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ