กรุงเทพฯ--9 พ.ค.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
ก.แรงงาน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยดังเมืองย่าโม เทรนคนทำงาน กลุ่มวิศวกร เน้นการพัฒนาระบบสมองกลฝังตัว ด้วยภาษา Lab View หวังสนับสนุนการเติบโตภาคอุตสาหกรรม
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในปัจจุบันอุปกรณ์หรือเครื่องมือสมัยใหม่ได้นำเทคโนโลยีระบบสมองกลฝังตัว (Embedded System) เข้ามาใช้ควบคุม
การทำงานทำให้อุปกรณ์ต่างๆ มีฟังก์ชันการทำงานหลากหลายมากขึ้น สามารถประมวลผลและควบคุมการทำงานที่มีความซับซ้อนได้ พร้อมทั้งสามารถลดขนาดให้เล็กลง และมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังมีกระบวนการทำงานในการผลิตของกลุ่มอุตสาหกรรมหลายประเภท ที่มีความจำเป็นต้องใช้ระบบสมองกลฝังตัว มาใช้เพื่อให้การผลิตนั้นรวดเร็ว อีกทั้งมีลดการสูญเสียในวงจรการผลิตด้วย เนื่องจากมีส่วนประกอบหลัก คือ ไมโครคอนโทรลเลอร์ (Microcontroller) นับเป็นชิ้นส่วนหลักของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่เครื่องใช้ไฟฟ้าประจำบ้าน อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ รวมถึงระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุมในยานยนต์ด้วย ดังนั้นทักษะความรู้ในด้านนี้ จึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการขับเคลื่อนให้ประเทศไทย ก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 และภายใต้การนำของพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่เน้นย้ำและให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทักษะแรงงานไทย ต้องได้มาตรฐาน ตรงกับความต้องการของสถานประกอบกิจการและภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งในภูมิภาคเอเชียและนานาประเทศ
มีเป้าหมายในปี 61 ฝึกทักษะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และระบบที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม 9,800 คน ดำเนินการแล้วกว่า 2,500 คน
ด้านนายสุเมธ โศจิพลกุล ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 5 นครราชสีมา (สพร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สพร.5 นครราชสีมา ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ดำเนินการฝึกทักษะในสาขา การพัฒนาระบบสมองกลฝังตัวด้วยภาษา Lab View ให้กับกลุ่มนักศึกษาปีสุดท้าย คณะวิศวกรรม กลุ่มคนทำงานในสถานประกอบกิจการและผู้ว่างงาน ที่มีความรู้เกี่ยวข้องในสาขาดังกล่าวมาแล้วจำนวน 2 รุ่น และมีกำหนดจะเปิดรุ่นที่ 3 ระหว่างวันที่ 22-24 พฤษภาคม 2561 เพราะการฝึกด้านระบบสมองกลฝังตัว สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานได้หลายรูปแบบ จึงมีคนสนใจเข้าฝึกอบรมเป็นจำนวนมาก และฝึกอบรมให้ฟรี
นายวิรัตน์ กาถาวร (ภูมิ) อายุ 27 ปี จบวิศวกรรมเครื่องกล จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ปัจจุบันเป็นพนักงานบริษัท เบนซ์พาร์คอิเล็กทรอนิกส์(ประเทศไทย) จำกัด ในตำแหน่ง วิศวกรโครงการ เล่าว่า สมองกลฝังตัวเป็นระบบคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋ว ที่ฝังไว้ในอุปกรณ์ เครื่องมือและเครื่องเล่นอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่ม ความสามารถต่างๆ ให้กับอุปกรณ์เหล่านั้น โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ฝังไว้ภายในสมองกล ซึ่งเครื่องจักรหลายชนิดมีระบบสมองกลมาใช้ในการควบคุมการสั่งงาน เพื่อให้การทำงานรวดเร็ว ปลอดภัยและเพิ่มความแม่นยำมากขึ้น เจ้าหน้าที่ทำหน้าที่ควบคุม ดูจากจอมอนิเตอร์แทน ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาได้เร็วกว่า
และมองเห็นพื้นที่ควบคุมได้กว้างกว่าด้วย การฝึกอบรมในด้านนี้จึงดีมาก ค่าใช้จ่ายไม่สูง และประยุกต์ใช้ได้ง่าย ที่สำคัญเป็นเทคโนโลยีสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมมีความสามารถสูงขึ้น ผู้สนใจฝึกอบรม สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สพร.5นครราชสีมา โทรศัพท์หมายเลข 0 4441 6949 หรือ 0 2245 4035 สายด่วน 1506 กด 4