เจโทร ต่อยอดสนับสนุนการค้าขายภาคบริการไทย — เชิญที่ปรึกษาพัฒนาผู้ประกอบการฟรานไชส์ไทย

ข่าวทั่วไป Monday September 17, 2007 09:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--เจโทร กรุงเทพฯ
- มุ่งเน้นการค้าขายภาคบริการที่มีคุณค่าของความเป็นไทยสูง ได้แก่ สปาไทย ร้านอาหารไทย และอุตสาหกรรมภาคมีเดียคอนเทนท์ของไทย
- ร้านอาหารในต่างประเทศที่ชาวไทยเป็นเจ้าของ ทำรายได้เข้าประเทศไทยถึง 30,000 ล้านบาทต่อปี
- ญี่ปุ่นอนุญาตให้ผู้ประกอบการร้านอาหารถือครองหุ้น 100% และตลาดญี่ปุ่นยังเปิดกว้างสำหรับฟรานไชส์จากประเทศไทย
องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร กรุงเทพฯ ร่วมกับกรมส่งเสริมการส่งออก เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจฟรานไชส์จากญี่ปุ่นให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการไทยในการวางโครงสร้างธุรกิจเพื่อการทำฟรานไชส์ โดยเป็นแผนงานระยะยาวเพื่อให้การสนับสนุน “การค้าขายภาคบริการของไทย” โดยขยายฟรานไชส์ไปยังประเทศญี่ปุ่น ในด้านธุรกิจสปาไทยและร้านอาหารไทย รวมทั้งส่งเสริมธุรกิจมีเดียคอนเทนท์ (Content) ของไทย
มร. ฮารุฮิโกะ โอซะสะ ผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมือทางการค้า เจโทร กรุงเทพฯ กล่าวว่า “การขายฟรานไชส์ไทยให้กับญี่ปุ่นนั้นเป็นธุรกิจที่ดี และตลาดญี่ปุ่นยังไม่อิ่มตัว กฎหมายของญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจฟรานไชส์เน้นการสนับสนุนธุรกิจให้เติบโต และไม่เน้นการควบคุม ยกตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการร้านอาหารต่างชาติที่ลงทุนในญี่ปุ่นสามารถถือครองหุ้นได้ถึง 100% เนื่องจากญี่ปุ่นได้เปิดเสรีการลงทุนเมื่อปี พ.ศ. 2512 จึงเป็นการกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของฟรานไชส์จากต่างประเทศในตลาดญี่ปุ่น
“นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นยังเปิดรับการบริการจากประเทศต่างๆ ในเอเชีย เช่น ร้านขนมปังและคอฟฟี่ช็อป “ยาคุง คายา โทสต์” จากสิงคโปร์ และร้านชาบู “ลิทเทิ่ล ชีพ” จากจีน เข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2549 และได้รับความนิยมอย่างมากในทันทีเนื่องจากสองร้านดังกล่าวมีความเป็นเอกลักษณ์ (Originality) ทั้งนี้ บริการจากประเทศไทย รวมถึงร้านอาหารไทย มีโอกาสทางธุรกิจสูงเช่นเดียวกัน เพราะประเทศไทยเป็นแหล่งกำเนิด “คุณค่าของความเป็นไทย” อย่างแท้จริง ซึ่งได้แก่ คุณค่าทางด้านภูมิปัญญา วัฒนธรรม และมรดกทางวิถีความเป็นไทย ผ่านการดำรงชีวิตแบบไทย” มร. โอซะสะ กล่าว
นางสมจินต์ เปล่งขำ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า “การส่งเสริมการค้าขายภาคบริการของไทยไปยังต่างประเทศเป็นโอกาสที่ดีในการเพิ่มกระแสรายรับให้กับประเทศ ทั้งประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีรายได้จากการส่งออก ร้านอาหารที่ชาวไทยเป็นเจ้าของในต่างประเทศทำรายได้เข้าสู่ประเทศไทยถึง 30,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น กรมส่งเสริมการส่งออกจึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจมีตรายี่ห้อ หรือแบรนด์ของตัวเอง และพัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการลงทุนในต่างประเทศ”
มร. เท็ตสึ คาเออิดะ ผู้เชี่ยวชาญของเจโทร และผู้อำนวยการ Japan Franchise Association ของประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า “ตลาดญี่ปุ่นตอบรับกับฟรานไชส์ต่างประเทศดีมาก และฟรานไชส์ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นในระยะเวลาที่ผ่านมา ฟรานไชส์ที่พบมากได้แก่ ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร และบริการอื่นๆ โดยรวมแล้ว มี 1,146 แบรนด์ฟรานไชส์ ขึ้นทะเบียนแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2548 โดยเพิ่มขึ้น 58 แบรนด์หรือ 5.3% จากปีก่อนหน้า นอกจากนี้ มี 234,489 สาขาฟรานไชส์ ดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2548 โดยเพิ่มจำนวนขึ้น 8,352 สาขา หรือ 3.8% จากปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ยอดขายจากฟรานไชส์อยู่ที่ 19,388,800 ล้านเยน เมื่อปี พ.ศ. 2548 โดยเพิ่มขึ้น 3.6% จากปีก่อนหน้า สำหรับธุรกิจร้านอาหารนั้น มี 457 ร้านอาหารฟรานไชส์ ในญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2548 ซึ่งมีสาขารวมทั้งหมด 56,865 สาขา และทำรายได้ถึง 4,060,821 ล้านเยน ร้านอาหารฟรานไชส์ดังกล่าว ได้แก่ ร้านอาหารต่างชาติ เช่นอาหารแบบตะวันตกและอาหารจีน อาหารแบบเร่งด่วนเช่นซูชิ ราเมน และแฮมเบอร์เกอร์ และบาร์ หรือร้านกาแฟ เป็นต้น”
มร. คาเออิดะ เคยดำรงตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ของ Family Mart ซึ่งเป็นร้านสะดวกซื้อชื่อดัง มร. คาเออิดะ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ธุรกิจฟรานไชส์ในญี่ปุ่นนั้นน่าดึงดูดนักลงทุนอย่างมาก โดยปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ถึง 30% เมื่อเปรียบเทียบกับฟรานไชส์ของญี่ปุ่นเอง นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นยังเปิดรับสินค้าและบริการจากต่างประเทศ เพราะได้ท่องเที่ยวไปยังต่างประเทศและมีความสุขกับการอุปโภคบริโภคสินค้าและบริการนำเข้า ทั้งนี้ ปัจจัยสู่ความสำเร็จสี่ประการ ได้แก่ หนึ่ง ธุรกิจฟรานไชส์จะต้องพัฒนาโมเดลทางธุรกิจให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมการทำงานและการบริโภคของญี่ปุ่น สอง สินค้าและบริการจะต้องมีจุดขายที่ชัดเจนหรือมีเอกลักษณ์ สาม ต้องมีการทำการตลาดที่ดี และ สี่ ต้องมีระบบฟรานไชส์ที่ดี ซึ่งรวมถึงลอจิสติกส์ที่ดี ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของผู้ประกอบการได้อีกด้วย”
มร. คาเออิดะ ได้เยี่ยมชมบริษัทฟรานไชส์ระดับแนวหน้าของไทยจำนวน 7 แห่ง และกล่าวเพิ่มเติมว่าฟรานไชส์ของไทยมีความแข็งแกร่งที่โดดเด่น เช่น ปรัชญาการดำเนินธุรกิจ ความสามารถของผู้ประกอบการ โครงสร้างฟรานไชส์ที่ดี การเทรนนิ่งทางด้านบริการที่ดีสำหรับผู้ซื้อฟรานไชส์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเอกลักษณ์ของสินค้าและบริการ ซึ่งทำให้ฟรานไชส์ไทยแตกต่างจากฟรานไชส์อื่นๆ ทั้งนี้ ฟรานไชส์ไทยได้รับการแนะนำให้พัฒนาเรื่องเทคนิค ได้แก่ การนำเสนอสัญญาที่ละเอียดครอบคลุมให้แก่ผู้ซื้อฟรานไชส์ การพัฒนาระบบตอบรับ (Feedback) จากผู้ซื้อฟรานไชส์ไปสู่เจ้าของ ฟรานไชส์ และเพิ่มศักยภาพการบริหารระบบเทรนนิ่งสำหรับผู้ซื้อฟรานไชส์
นายบุญชัย หลีระพันธ์ นายกสมาคมธุรกิจฟรานไชส์และเอสเอ็มอีไทย และกรรมการผู้จัดการธุรกิจอาหาร เย็นตาโฟเครื่องทรง กล่าวว่า “ธุรกิจไทยควรพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการให้ได้มาตรฐานอย่างยั่งยืน เพื่อที่จะสามารถเข้าสู่และแข่งขันได้ในตลาดญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นมีมาตรฐานคุณภาพสูงกว่าประเทศไทยมาก นอกจากนี้ ธุรกิจไทยควรสื่อสารคุณค่าของความเป็นไทยและวัฒนธรรมไทยออกไปสู่ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นให้ได้ อาหารไทยนั้นได้รับความนิยมเป็นในญี่ปุ่น รองจากอาหารฝรั่งเศสและอาหารอิตาเลียน แต่มีช่องว่างความนิยมห่างกันอยู่ เพราะอาหารไทยมีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมไทย ที่ต้องอาศัยประสบการณ์และความเข้าใจในการสร้างความประทับใจ”
“สำหรับร้านอาหารไทยที่ต้องการค้าขายฟรานไชส์ไปยังประเทศญี่ปุ่น ควรมองหาวิธีการพัฒนาสินค้าและบริการให้ดีขึ้น เช่น การนำเสนอ “อาหารพร้อมปรุง (Ready to Cook)” เพื่อรักษารสชาติที่ดี และหลีกเลี่ยงขั้นตอนที่ซับซ้อนในการปรุงอาหารไทย ตลอดจนลดภาระในการจัดหาเครื่องปรุงของไทยในต่างประเทศ”
ในเดือนกันยายนและตุลาคม พ.ศ. 2550 เจโทร กรุงเทพฯ จะเชิญผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นอีกสองท่านเพื่อให้คำปรึกษาเรื่องร้านอาหารไทยและสปาไทย
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ
คุณชุติมา ดวงพาณิช
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ เจโทร กรุงเทพฯ
โทร 02 253 6441 ต่อ 147

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ