ปัญหาสุขภาพ...ซ้ำเติมคนใต้

ข่าวทั่วไป Friday October 5, 2007 15:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ต.ค.--สวรส.
วิกฤตไฟใต้ยืดเยื้อหลายปี นำไปสู่ผลกระทบด้านโรคเรื้อรังและโรคไม่ติดต่อ สำรวจพบประชาชนในพื้นที่ป่วยด้วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจขาด เพิ่มมากขึ้น พร้อมเกิดอุบัติการณ์โรคเครียดสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ แพทย์และพยาบาลยังขาดแคลน วอนรัฐแก้วิกฤตอย่างเร่งด่วน พร้อมฟื้นฟูสุขภาวะด้านร่างกายและจิตใจ
เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาหลายปี ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยวงกว้างในทุกรูปแบบ รวมทั้งสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลและครอบครัว และส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในทุกระดับ โดยเฉพาะในระดับพื้นที่และระดับภูมิภาค ทำให้ระดับรายได้ทางการท่องเที่ยวลดลงอย่างรวดเร็วและเห็นได้ชัด รวมทั้งกระทบกับวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ที่สำคัญคือส่งผลกระทบต่อระบบบริการสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุขอย่างชัดเจน
นายแพทย์สุวัฒน์ วิริยะพงษ์สุกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทพา เปิดเผยว่าจากรายงานการศึกษาผลกระทบต่อบริการสุขภาพในรูปแบบการตอบแบบสอบถาม ในสภาวะวิกฤต 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนับสนุนโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)) พบว่าการให้บริการด้านสาธารณสุขในระดับสถานีอนามัยจำนวน 253 แห่ง มีการเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 35.6 ในด้านผู้ให้บริการ พบว่า จำนวนบุคลากรเฉลี่ยต่อสถานีอนามัยในระดับสถานีอนามัยมีแนวโน้มลดลงจากจำนวนเฉลี่ย 3.42 คน ในปี 2545 เป็น 3.26 คนในปี 2547 และอาจจะมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ
สำหรับบริการด้านต่างๆ ในระดับโรงพยาบาล พบว่ามีการให้บริการลดลง โดยเฉพาะกิจกรรมเชิงรุกในด้านการรักษา การตรวจโรคลดลง ร้อยละ 25 ในด้านทันตกรรมลดลง ร้อยละ 50 ที่น่าตกใจคือเรื่องพื้นฐานด้านสุขภาวะของประชาชนด้านการส่งเสริมสุขภาพ การให้ความรู้ และการป้องกันโรค ลดลงถึงร้อยละ 70 รวมทั้งกิจกรรมการเยี่ยมบ้าน การลงพื้นที่ลดลงร้อยละ 60 ส่วนการรักษาพยาบาลในสถานบริการแบบตั้งรับพบการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย เหล่านี้ส่งผลให้จำนวนผู้มารับบริการทั้งผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยในแตกต่างกัน ส่วนบุคลากรที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล พบว่า ไม่แตกต่างกัน
เมื่อศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่ามีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด และหอบหืด เข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่กลุ่มอาการที่เกิดจากภาวะเครียด (Neurotic, Stress-related and somatoform disorders) ซึ่งถูกรายงานในกลุ่มภาวะแปรปรวนทางจิตและพฤติกรรมเข้ารับบริการเป็นผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้น ซึ่งแตกต่างจากสมัยก่อนที่เข้ารับการรักษาด้วยอาการป่วยทั่วไป เห็นได้ชัดว่าหลังจากเหตุการณ์ความไม่สงบกลับส่งผลให้ประชาชนเกิดโรคเรื้อรังและโรคไม่ติดต่อเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มของการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะความเครียดที่เกิดจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่ผ่านมาหลายปี
นพ.สุวัฒน์ กล่าวต่อว่านอกจากนี้ยังพบว่าเหตุการณ์ความรุนแรงยังส่งผลกระทบด้านขวัญกำลังใจกับบุคลากรทางการแพทย์ผู้ให้การรักษา อาทิ ความรู้สึกไม่ปลอดภัย เกิดความกังวลใจกับบุคคลในครอบครัว และยังกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวัน คือ ไม่กล้าออกไปปฏิบัติศาสนกิจและไม่กล้าออกไปไหนในเวลากลางคืน
มีผลกระทบกับกำลังคนด้านการแพทย์ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาล โดยกลุ่มแพทย์และทันตแพทย์พบว่าขาดแคลนค่อนข้างสูง (ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์) ในขณะที่วิชาชีพพยาบาลและเภสัชกรอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยที่ต่ำกว่าเกณฑ์เล็กน้อย ทั้งนี้พบว่าจังหวัดยะลาขาดแคลนแพทย์มากที่สุด โดยเฉพาะแพทย์ทางสาขาที่มีความจำเป็นสูงในสถานการณ์ความรุนแรง เช่น ศัลยกรรมกระดูก ศัลยกรรมทั่วไป เป็นต้น
ปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งคุณภาพชีวิตของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เกิดขึ้นในขณะนี้หลายฝ่ายกำลังระดมสมองช่วยกันหาทางออกโดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะสร้างสันติสุขในชุมชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนำความสมานฉันต์และการอยู่ร่วมกันของทุกเชื้อชาติศาสนากลับคืนมา การฟื้นฟูสุขภาวะของประชาชนถือเป็นเรื่องสำคัญที่ภาคีหรือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันแก้ปัญหา เพื่อนำไปสู่โอกาสแห่งความสำเร็จมากที่สุด
เพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาผลกระทบจากความรุนแรงดังกล่าว สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุขและหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ฯลฯ จัดงานสัมมนาวิชาการเรื่องการจัดการความรู้ระบบสุขภาพเพื่อสันติสุขภาวะพื้นที่ภาคใต้ ขึ้นในระหว่างวันที่ 7 — 8 พฤศจิกายน 2550 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพมหานคร โดยมุ่งหวังที่จะวิเคราะห์และสังเคราะห์องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยของหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ นำไปสู่ข้อเสนอเชิงระบบ เพื่อนำเสนอต่อผู้บริหาร ผู้แทนพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
เรื่องโดย วารุณี บุญสงค์
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สวรส.
โทร.02-2701350-4 ต่อ 105

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ