กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการประจำเดือนเมษายน 2561 ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ร้อยละ 31.5, 38.9, 29.6 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ แบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 49.7, 12.0, 12.9, 13.1, 12.3 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 81.2 และ 18.8 ตามลำดับ
โดย ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2561 อยู่ที่ระดับ 89.1 ปรับตัวลดลงจากระดับ 90.7 ในเดือนมีนาคม ทั้งนี้ค่าดัชนีฯ ที่ลดลง เกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
จากการสำรวจ พบว่า ในเดือนเมษายน ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากในเดือนเมษายน มีวันทำงานน้อยกว่าปกติจากวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมทั้งผู้ประกอบการได้เร่งผลิตไปในช่วงเดือนก่อนหน้าแล้ว ส่งผลให้การใช้กำลังการผลิตในเดือนเมษายนลดลง อีกทั้งผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อต้นทุนการผลิต จากราคาวัตถุดิบ ราคาน้ำมันและค่าจ้างแรงงานที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งการแข่งขันด้านราคา ขณะเดียวกันการแข็งค่าของเงินบาทส่งผลกระทบทำให้ผู้ส่งออกสูญเสียรายได้เมื่อแปลงกลับมาเป็นเงินบาท
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ระดับ 102.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 100.9 ในเดือนมีนาคม เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องโดยมีแรงหนุนจากภาคการส่งออก
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามขนาดของกิจการในเดือนเมษายน 2561 จากการสำรวจ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดเล็ก และขนาดกลาง ปรับตัวลดลงจากเดือนมีนาคม ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคมโดยมีรายละเอียดดังนี้ (ตารางที่ 5)
อุตสาหกรรมขนาดย่อม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนเมษายน 2561 อยู่ที่ระดับ 72.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 74.7 ในเดือนมีนาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเซรามิก, อุตสาหกรรมหล่อโลหะ, อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 94.0 ปรับตัวลดลง จากระดับ95.1 ในเดือนมีนาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมขนาดกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนเมษายน 2561 อยู่ที่ระดับ 89.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 91.6 ในเดือนมีนาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์, อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์, อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นต้น
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 107.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 105.1 ในเดือนมีนาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนเมษายน 2561 อยู่ที่ระดับ 106.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 105.5 ในเดือนมีนาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์,อุตสาหกรรมปิโตรเคมี,อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม เป็นต้น
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 103.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 101.9 ในเดือนมีนาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นฯรายภูมิภาค ประจำเดือนเมษายน 2561 จากการสำรวจพบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ปรับตัวลดลงจากเดือนมีนาคม ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคตะวันออก ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากเดือนมีนาคม โดยมีรายละเอียด มีดังนี้ (ตารางที่ 6)
ภาคกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนเมษายน 2561 อยู่ที่ระดับ 88.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 93.2 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านลบ ต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
อุตสาหกรรมเหล็ก (สินค้าประเภทเหล็กเส้น เหล็กทรงยาว มีการผลิตลดลง เนื่องจากมีวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์)
อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ (เฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูปประเภทไม้และเหล็ก มียอดขายในประเทศลดลง)
อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ (กล่องบรรจุภัณฑ์ลูกฟูก มียอดคำสั่งซื้อในประเทศลดลง ขณะที่การผลิตลดลง เนื่องจากในเดือนเมษายนมีวันหยุดต่อเนื่อง)
อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านบวก ต่อค่าดัชนีฯได้แก่
อุตสาหกรรมพลาสติก (บรรจุภัณฑ์พลาสติก ประเภทขวด ภาชนะใส่อาหาร และพลาสติกที่ใช้ในการก่อสร้าง เช่น ท่อพีวีซี สายยางมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ)
ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 105.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ104.8 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนเมษายน 2561 อยู่ที่ระดับ 84.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 85.1 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมในภาคเหนือ ที่ส่งผลด้านลบ ต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน (อิฐมวลเบาและอิฐโปร่ง หินที่ใช้ในการก่อสร้าง มียอดขายในประเทศลดลง ประกอบกับมีวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทำให้การผลิตสินค้าลดลง)
หัตถอุตสาหกรรม (สินค้าหัตถกรรม เครื่องเคลือบและของที่ระลึก สินค้าพรีเมี่ยม มียอดขาย
ในประเทศลดลง)
อุตสาหกรรมสมุนไพร (ยาสมุนไพร เครื่องดื่มสมุนไพร มีคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศลดลง ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อสมุนไพรสำหรับทำสปาจากตลาด CLMV ลดลง)
อุตสาหกรรมในภาคเหนือ ที่ส่งผลด้านบวก ต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
อุตสาหกรรมสิ่งทอ (สินค้าประเภทเส้นใยสิ่งทอและผ้าผืน มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ตามความต้องการใช้เพื่อผลิตเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ด้านการส่งออกเส้นใยสังเคราะห์และผ้าผืน มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศ CLMV)
ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 89.5 ปรับตัวลดลง จากระดับ 93.1 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนเมษายน 2561 อยู่ที่ระดับ 86.1ปรับตัวลดลง จากระดับ 88.3 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลงได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านลบ ต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
อุตสาหกรรมเซรามิก (กระเบื้องเซรามิก กระเบื้องปูพื้นและบุผนัง มีคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากลูกค้ามีสต็อคสินค้าในปริมาณสูงทำให้ชะลอคำสั่งซื้อ ด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์กระเบื้องปูพื้นและบุผนัง มีคำสั่งซื้อลดลงจากจีน และตลาด CLMV)
อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร (อุปกรณ์การเกษตร รถไถนา เครื่องเกี่ยวนวดข้าว มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากรายได้เกษตกรลดลง)
อุตสาหกรรมหล่อโลหะ (งานหล่อโลหะ งานปั๊มขึ้นรูป มีคำสั่งซื้อในประเทศลดลง ด้านการผลิตลดลงเนื่องจากมีวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกรานต์)
อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านบวก ต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม (เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ จีน และ CLMV อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และ Hard Disk Drive มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดเอเชีย)
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 99.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 98.5 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นฯในเดือนเมษายน 2561 อยู่ที่ระดับ 105.4 เพิ่มขึ้นจากระดับ 104.1 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านบวก ต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ (อะไหล่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ประเภทอะไหล่และล้อยาง อุปกรณ์เสริม มีคำสั่งซื้อจากตลาดเอเชีย ยุโรป และสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น)
อุตสาหกรรมยานยนต์ (รถยนต์นั่ง รถ SUV และ PPV รถกระบะ รถจักรยานยนต์ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากค่ายรถยนต์ออกรถรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผู้บริโภคมีความต้องการใช้รถยนต์เพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้นจากตลาดเอเชีย ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง ขณะที่รถจักรยานยนต์ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจาก ยุโรป สหรัฐฯ และอินโดนีเซีย)
อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น (เครื่องปรับอากาศ และตู้แช่เย็น มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูร้อน ทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการใช้สินค้าเพิ่มขึ้น คอมเพรสเซอร์มีคำสั่งซื้อจากประเทศในตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น)
อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านลบ ต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ (เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม มียอดขายในประเทศลดลง ด้านการส่งออกไปตลาดอาเซียน และญี่ปุ่นลดลง)
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 107.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 105.4 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯในเดือนเมษายน 2561 อยู่ที่ระดับ 80.0 ปรับตัวลดลง จากระดับ 81.2 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านลบ ต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
ผลิตภัณฑ์ยาง (ผลิตภัณฑ์ยางและยางแผ่นรมควัน ส่งออกไปยังประเทศจีนและสหรัฐฯลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการสั่งซื้อ)
อุตสาหกรรมโรงเลื่อย โรงอบไม้ (ไม้ยางพาราแปรรูป มียอดขายในประเทศลดลง ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อจากประเทศจีนลดลง)
อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ (อุปกรณ์การแพทย์ มียอดคำสั่งซื้อในประเทศลดลง เนื่องจากโรงพยาบาลและคลินิก ชะลอการสั่งซื้อ ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อลดลงจากออสเตรเลียและอินโดนีเซีย)
อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านบวก ต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (การผลิตน้ำมันปาล์มดิบมีปริมาณเพิ่มขึ้น น้ำมันปาล์มขวดมียอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นจากความต้องการบริโภคในประเทศ)
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 98.6 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขายในเดือนเมษายน 2561 จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ ปรับตัวลดลง จากเดือนมีนาคม ขณะที่ กลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากเดือนมีนาคม โดยมีรายละเอียดดังนี้ (ตารางที่ 7)
กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนเมษายน 2561 อยู่ที่ระดับ 85.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 87.8 ในเดือนมีนาคมองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ, อุตสาหกรรมก๊าซ,อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 101.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนเมษายน 2561 อยู่ที่ระดับ 103.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 101.9 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม และผลประกอบการ
สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม,อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น ,อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เป็นต้น
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 100.3 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ
1. แก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เช่น ผ่อนปรนเงื่อนไขการขอสินเชื่อและการใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน
2. เร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่ยังล่าช้า
3. ลดภาษีนำเข้าสินค้าทุนและเครื่องจักร สำหรับผู้ผลิตสินค้าเพื่อส่งออก
4. เร่งเปิดความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนกับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ที่มีศักยภาพ
5. กำหนดมาตรการในการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น