กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--อเกต คอมมิวนิเคชั่น
บริติช เคานซิล ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดงาน Cafe Scientifique งานคาเฟ่จิบกาแฟสนทนางานวิจัย และเปิดรับสมัครทุนวิจัยไทย-อังกฤษ รวมมูลค่า 30 ล้านบาท โดยการสนับสนุนจากโครงการทุนวิจัยนิวตัน (Newton fund) พร้อมเผยแพร่ 6 งานวิจัยที่ได้รับทุนจากโครงการในปีที่ผ่านมา ขับเคลื่อนนโยบาย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย
บริติช เคานซิล ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ดำเนินโครงการ Institutional Links ภายใต้โครงการทุนวิจัยนิวตันหรือ Newton Fund เพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างกลุ่มนักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และสถาบันการศึกษาในประเทศไทย และใน สหราชอาณาจักร นอกจากนี้ยังเป็นการขยายงานวิจัยสู่ภาคปฏิบัติที่ตอบสนองต่อปัญหาสังคมและการพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งโครงการ Institutional Links นี้ได้ดำเนินการเป็นปีที่ 4 อย่างต่อเนื่อง และกำลังเปิดรับสมัครผู้สนใจชิงทุนวิจัยรวมมูลค่ากว่า 30 ล้านบาท
ภายในงาน ได้มีการเผยแพร่ 6 ผลงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนโดยโครงการฯ สู่สาธารณชน ในบรรยากาศที่เป็นกันเองด้วยรูปแบบของงานคาเฟ่หรือร้านกาแฟ ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบาย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ในการใช้วิทยาศาสตร์และงานวิจัยพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และยกระดับงานวิจัยไทยสู่สากล
งานวิจัยทั้ง 6 หัวข้อ ได้แก่
- กระดาษแบบพกพาเพื่อการตรวจหาสารปนเปื้อนจากอุตสาหกรรมอาหาร โดย ศ.ดร.ธีรยุทธ วิไลวัลย์ จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- การพัฒนาเครือข่ายงานวิจัยด้านสุขภาพกุ้งเพื่อลดช่องว่างและเชื่อมโยงในการทำงานของ ภาควิชาการ ภาคนโยบาย และภาคเกษตรกร โดย ดร.กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา จาก ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC)
- โครงการยกระดับระบบนิเวศผู้ประกอบการในประเทศไทย โดย ดร.วรรณา เต็มสิริพจน์ จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- โครงการวิจัยการวางแผนเพื่อเมืองนิเวศน์ และสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความพลวัตของภูมิอากาศ โดย ผศ.ดร.บุญอนันต์ นทกุล จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- การเข้าสู่เกษตรกรรมความแม่นยำสูง โดย รศ.ดร.ปณต ถาวรังกูร จาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
นายแอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่สองที่ บริติช เคานซิล จัดงาน Cafe Scientifique ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อต่อยอดการมีส่วนร่วมและเชื่อมโยงงานวิจัยกับสังคม ผู้คนและสื่อมวลชน ในปีนี้ภายใต้โครงการทุนวิจัย Newton Fund Institutional Links เราจะมอบทุนมูลค่า 30 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการทำวิจัยระหว่าง ไทยและสหราชอาณาจักรต่อไป เพื่อยกระดับงานวิจัยไทย-สหราชอาณาจักร และพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมของทั้งสองประเทศร่วมกัน
รศ. ดร. นพ. พงศกร ตันติลีปิกร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านเครือข่ายวิจัยนานาชาติและวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง สกว. กับรัฐบาลอังกฤษในการสนับสนุนทุน Institutional Links ภายใต้โครงการ Newton UK –Thailand Research and Innovation Partnership Fund นี้ จะช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม โดยเฉพาะนักวิจัยไทยที่ถือได้ว่าเป็นการสนับสนุนให้เกิดการสร้างเครือข่ายกับนักวิจัยในอังกฤษ เพื่อการทำวิจัยและแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ด้านการวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมร่วมกัน ซึ่งจะช่วยยกระดับนักวิจัยและผลงานวิจัยของไทยให้อยู่ในระดับสากล
นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคล, สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กล่าวเสริมว่า ทุนวิจัยโครงการ Institutional Links มีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการเรียนการสอน การทำวิจัยและนวัตกรรมของอาจารย์และนักวิจัย เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) และที่สำคัญที่สุดคือ เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0
สำหรับรายละเอียดการเปิดรับสมัครโครงการวิจัย เพื่อชิงทุนมูลค่ารวม 30 ล้านบาท ผู้สมัครจะต้องเป็นนักวิจัยที่มีประสบการณ์ในการดำเนินโครงการวิจัยร่วมระดับนานาชาติ และเลือกหน่วยงานสนับสนุนไทยที่ต้องการสมัครขอทุนดังต่อไปนี้
1. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยผู้สมัครต้องเป็นนักวิจัยในมหาวิทยาลัยสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และหัวข้อวิจัยต้องแสดงถึงแผนการส่งเสริมร่วมมือที่ยั่งยืน และสนับสนุนมีส่วนร่วมกับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ ยานยนต์สมัยใหม่ (Next-generation Automotive) อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยว เชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology) การแปรรูปอาหาร (Food for the Future) หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Robotics) การบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) ดิจิทัล (Digital) และ การแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)
2. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยผู้สมัครต้องเป็นนักวิจัยที่ไม่ดำรงตำแหน่งบริหารระดับอาวุโส คณบดีขึ้นไป และมีหัวข้อวิจัยภายใต้กลุ่มเป้าหมาย ดังนี้ Big Data การพัฒนาการศึกษา เชิงนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคม การปกครอง เทคโนโลยีด้านอาหาร สุขภาพ และพลังงาน
เปิดรับสมัครถึง 8 มิถุนายน 2561 นี้ ข้อมูลเพิ่มเติม www.britishcouncil.or.th
เกี่ยวกับโครงการกองทุนนิวตัน (Newton Fund)
โครงการกองทุนนิวตันเกิดขึ้นเพื้อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ในสังคมโดยการใช้วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมและการทำงานร่วมกับประเทศพันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการ ทุนวิจัย Newton Fund เป็นทุนสนับสนุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมจากสหราชอาณาจักรมูลค่ากว่า 735,000,000 ปอนด์ โดยเริ่มโครงการครั้งแรกในปี 2557 และมีแผนดำเนินโครงการถึงปี พ.ศ.2564
บริติช เคานซิล ประเทศไทย เป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการ Newton Fund โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่ให้การสนับสนุนงานด้านวิทยาศาสตร์และวิจัยชั้นนำในประเทศไทย รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรสำคัญในการสนับสนุนงานวิจัยในระดับอุดมศึกษา โครงการ Institutional Links
เกี่ยวกับ บริติช เคานซิล
บริติช เคานซิล คือ องค์กรนานาชาติเพื่อส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา ศิลปะ และวัฒนธรรมแห่งสหราชอาณาจักร เราสร้างสรรค์องค์ความรู้และความเข้าใจอันดีระหว่างผู้คนของสหราชอาณาจักรและประเทศอื่นๆ โดยการสร้างประโยชน์ระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศที่เราทำงานด้วย เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนให้ดีขึ้นโดยการสร้างโอกาส สร้างเครือข่าย และสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน
เราทำงานกับประเทศต่างๆ กว่า 100 ประเทศทั่วโลกผ่านงานด้านศิลปะ วัฒนธรรม ภาษาอังกฤษ การศึกษาในแต่ ละปีเราสื่อสารกับผู้คนโดยตรงมากกว่า 20 ล้านคน และสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ สื่อวิทยุโทรทัศน์และสิ่งพิมพ์ กับผู้คนกว่า 500 ล้านคน
บริติช เคานซิล ก่อตั้งในปี พ.ศ.2477 ภายใต้พระบรมราชานุญาตและพระราชบัญญัติองค์การอิสระแห่งสหราชอาณาจักร รายได้ส่วนใหญ่มาจากการดำเนินโครงการต่างๆ รวมถึงงานด้านการสอนภาษาอังกฤษ การจัดสอบ การพัฒนาการศึกษา และโครงการความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐและเอกชน ส่วนที่เหลือร้อยละ 18 มาจากเงินสนับสนุนโดยรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร
บริติช เคานซิล ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2495 และขยายสาขาเป็น หกสาขาในประเทศไทย ประกอบด้วย ห้าสาขาในกรุงเทพมหานคร และหนึ่งสาขาในเชียงใหม่ เรามุ่งมั่นในพันธกิจของเราในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหราชอาณาจักร และสร้างโอกาสให้ผู้คนผ่านงานด้านภาษาอังกฤษ การศึกษา การสอบ ศิลปะและสังคม