ผู้ว่าอภิรักษ์ฯ ขอบคุณทุกฝ่ายในความสำเร็จของเสาชิงช้าใหม่

ข่าวทั่วไป Wednesday October 17, 2007 10:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--กทม.
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในวันขอบคุณหน่วยงานและผู้ให้การสนับสนุนงานเสาชิงช้า พร้อมทั้งมอบของที่ระลึกแก่คณะกรรมการ และผู้ให้การสนับสนุน
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ตรวจพบความชำรุดของเสาชิงช้า เมื่อปี 2547 การดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ ตั้งแต่การจัดหาไม้ การบวงสรวงไม้สักจากจังหวัดแพร่ การทำไม้ที่พระนครศรีอยุธยา จนกระทั้งติดตั้งเสาชิงช้าใหม่แล้วเสร็จ และมีพิธีฉลองอย่างเป็นทางการ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธี ในวันที่ 12 กันยายน 2550 และจัดงานฉลองเสาชิงช้าระหว่าวันที่ 11-16 ก.ย.50 เป็นงานฉลองครั้งใหญ่ของกรุงเทพมหานคร ในฐานะของตัวแทนกรุงเทพมหานครขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ร่วมกับดำเนินการจนงานแล้วเสร็จเป็นด้วยความปลาบปลื้ม และเป็นที่ประทับใจของประชาชนชาวกรุงเทพมหานครและประชาชนชาวไทย ซึ่งจะร่วมกันจดจำประวัติศาสตร์สำคัญนี้ตลอดไป
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวด้วยว่า ในอนาคตอันใกล้มีงานที่ กทม. จะต้องดำเนินการต่อเนื่อง คือ โครงการขยายพันธุ์ต้นสักมงคลสายพันธุ์เสาชิงช้า จำนวน 1 ล้านต้น เพื่อสนองแนวพระราชเสาวนีย์เรื่องการปลูกป่า และการอนุรักษ์พันธุ์ไม้สัก โดยขณะนี้กำลังร่วมกับไบโอเทคในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื้อเพื่อขยายพันธุ์ นอกจากนี้ยังจะมีการประสานความร่วมมือโครงการบ้านพี่เมืองน้องกับจังหวัดแพร่ตามที่ได้มีการลงนามสถาปนาความสัมพันธ์กันไปแล้วอีกด้วย
นายพิชัย ไชยพจน์พานิช รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวสรุปงานทั้งหมดว่า การบูรณปฏิสังขรณ์เสาชิงช้าประสบความสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือและการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากหน่วยงานและทุกภาคส่วน ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการอำนวยการบูรณะเสาชิงช้า กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานกรรมการ มีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาการด้านต่าง ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ ได้พิจารณาให้การดำเนินการบูรณะเสาชิงช้าถูกต้องตามหลักวิธีปฏิบัติแห่งราชประเพณีนิยม ประวัติ และรูปแบบเดิม และได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นอีก 6 คณะเพื่อดำเนินการในรายละเอียดแต่ละสาขาอีกส่วนหนึ่งด้วย จนกระทั่งการบูรณะเสาชิงช้าแล้วเสร็จ
อนึ่ง เมื่อปลายปีพ.ศ. 2547 กรุงเทพมหานครพบว่าเสาชิงช้ามีสภาพชำรุด จึงได้ประสานกรมศิลปากรและมีความเห็นว่าความชำรุดนี้อยู่ในขั้นวิกฤติ จะต้องบูรณะซ่อมแซมและหาไม้มาทดแทนเสาเดิมเพื่อให้เสาชิงช้าเป็นสมบัติ
อันคงคุณค่าของชาติสืบไป การซ่อมแซมเสาชิงช้าชั่วคราวใช้เวลาดำเนินการ ซ่อม 2 เดือน แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2548 โดยก่อนดำเนินการซ่อมได้ทำพิธีการบวงสรวงบูรณเสาชิงช้า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม 2548
การหาไม้มาทำเสาชิงช้าใหม่ กำหนด ให้ใช้ไม้สักทองท่อนเดียว ต้นตรง ไม่มีตำหนิ การค้นหาไม้สักได้รับความร่วมมือจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จากกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับได้รับความร่วมมือทางวิชาการ ในการตรวจสอบไม้ จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีการเดินทางไปตรวจในพื้นที่ต่าง ๆ หลายแห่ง ผลการค้นหาได้ไม้สักจำนวน 6 ต้น อยู่ในพื้นที่อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ เมื่อกรุงเทพมหานครได้รับการอนุญาตให้ดำเนินการทำไม้จากหน่วยงานต่าง ๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้มอบอำนาจให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เป็นผู้ดำเนินการทำไม้ทั้งหมด
ก่อนที่จะได้ไม้สักมาดำเนินการ กรุงเทพมหานครและจังหวัดแพร่ได้ร่วมทำพิธีบวงสรวงขอพลีต้นสัก เพื่อการบูรณปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า เมื่อวันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม 2549 ที่บริเวณต้นสักทั้ง 6 ต้น ไม้สักดังกล่าว มีการขนย้ายจากจังหวัดแพร่มายังจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อดำเนินการทำไม้ โดยไม้สักทั้งหมดเข้าสู่ระบบการตัดแต่ง แปรรูป เกลาให้มีความกลมกลึงเหมือนเสาเดิม เตรียมการอาบน้ำยารักษาเนื้อไม้ อบไม้ให้มีความแกร่ง ก่อนที่จะเข้าสลักเดือย ทำการแกะสลักซุ้มกระจัง หูช้าง การแต่งหัวเสาตะเกียบ ทดลองประกอบและทำสี ก่อนนำไปติดตั้งต่อไป
สำหรับการถอดถอนเสาชิงช้าเดิม ได้มีพิธีถอดเปลี่ยนเสาชิงช้าเมื่อวันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม 2549 เป็นการประกอบพิธีบูชาฤกษ์ บูชาครูอาจารย์ การตัดเสาชิงช้าดำเนินการในวันที่ 24 ตุลาคม 2549 โดยตัดส่วนบนคือ ซุ้มกระจัง ทวยหูช้าง ก่อน เพื่อให้สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากรนำไปเป็นแบบในการทำแบบลวดลาย รวมถึงลูกแก้วหัวเสาตะเกียบ ทั้งนี้การทำไม้ การประกอบไม้เสาชิงช้า การแกะสลัก ดำเนินการโดยทีมงานช่างฝีมือจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาทั้งหมด เมื่อทุกชิ้นส่วนของเสาชิงช้าชุดใหม่แล้วเสร็จ ได้มีการทดลองประกอบเสาชิงช้าเหมือนจริงและเตรียมเคลื่อนย้ายไม้มายังลานเสาชิงช้าในวันที่ 16 ธันวาคม 2549 ขณะเดียวกันทางลานเสาชิงช้าได้เตรียมพื้นที่ทำฐานรับเสา โดยกรุงเทพมหานครดำเนินการก่อสร้างฐานเสาชิงช้าตามที่กรมศิลปากรพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยได้ประสานกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์เพื่อให้ข้อแนะนำในด้านโครงสร้าง ความมั่นคงแข็งแรงของฐานราก และระบบป้องกันฟ้าผ่า นอกจากนั้นมีการตรวจสอบทางโบราณคดี โดยสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร
เนื่องจากการตั้งเสาเป็นช่วงสำคัญที่จะได้เสาชิงช้าใหม่แทนที่เสาเดิมจึงมีการประกอบพิธีตั้งเสาชิงช้าในวันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม 2549 ส่วนซุ้มกระจังกับขื่อเอก ทำการยกขึ้นตั้งบนเสาหลัก เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2550 จากนั้นจึงยกทวยหูช้างขึ้นติดตั้ง เป็นอันเสร็จการติดตั้งเสาชิงช้า จากนั้นจึงทำการตกแต่งองค์ประกอบ ทำระบบป้องกันฟ้าผ่า การปรับปรุงพื้นชานและลานเสาชิงช้า ปรับปรุงโคมไฟและระบบไฟฟ้าแสงสว่าง การติดตั้งป้ายประวัติ การปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ และการตกแต่งสีของเสาชิงช้าให้มีความเรียบร้อยสวยงาม พร้อมที่จะจัดงานฉลองเสาชิงช้า
กรุงเทพมหานครขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเชิญเสด็จพระราชดำเนินในพิธีฉลองเสาชิงช้า พระองค์ทรงพระกรุณารับเชิญเสด็จฯในวันพุธที่ 12 กันยายน2550 การนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จฯ โดยการจัดงานฉลองเสาชิงช้าระหว่างวันที่ 11—16 กันยายน 2550 นับเป็นงานฉลองครั้งใหญ่ของกรุงเทพมหานครและกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ชนรุ่นหลังได้สัมผัสบรรยากาศและกลิ่นอายแห่งอดีตของเสาชิงช้าและอยู่ในความทรงจำของผู้คนตลอดไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ