กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--กองสื่อสารองค์กร
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ปั้นนักศึกษาเพชรราชมงคลพระนครแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย – จีน หวังเสริมทักษะบัณฑิตคุณภาพพัฒนาสังคม
รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยฯ ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของนักศึกษา จึงจัดโครงการ "เพชรราชมงคลพระนคร รุ่นที่14" (การศึกษาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในต่างประเทศ) โดยส่งนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีการอาชีพหนานหนิง (Nanning College for Vocational Technology) และมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคุนหมิง (Kunming University of Science and Technology) ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ระยะเวลา 14 วัน ตัวแทนนักศึกษาจำนวน 18 คน ระหว่างวันที่ 15 – 28 พฤษภาคม 2561 ซึ่งนักศึกษาจะได้แลกเปลี่ยนความรู้และวัฒนธรรมพื้นเมืองของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน อาทิ เรียนรู้ทักษะการพูดและการเขียนอักษรด้วยพู่กันจีน ศิลปะการชงชา ศิลปะการต่อสู้ ดนตรีพื้นบ้าน และการทำอาหารจีน เพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้นักศึกษาที่มีความรู้ ความสามารถพิเศษได้พัฒนาไปสู่บัณฑิตพึงประสงค์ของมหาวิทยาลัยฯ และเปิดรับประสบการณ์ตรงกับเจ้าของภาษา รวมถึงการเปิดมุมมองโลกทัศน์ที่กว้างไกลนอกเหนือจากการเรียนรู้ในห้องเรียน ซึ่งจะนำไปสู่ความสามารถในการปรับตัวให้สอดรับกับการทำงานในระดับอาเซียนและระดับนานาชาติ และนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการเปรียบเสมือนยุวทูตในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่าง 2 ประเทศ
ด้าน ผศ.ยุทธภูมิ สุวรรณเวช รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่า กล่าวเสริมว่า นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการนี้ต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกและการฝึกอบรม เช่น กิจกรรมการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม กิจกรรมการพัฒนาบุคลิกภาพ การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย การฝึกด้านจิตอาสา การทำงานเป็นทีมและการศึกษาดูงานด้านอนุรักษ์ด้านธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และศิลปวัฒนธรรม การนำเสนอโครงการ โดยติดตามพัฒนาการเพื่อประเมินผลจนจบหลักสูตร ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับทักษะ ประสบการณ์ทุกด้านภายในประเทศก่อนที่จะเป็นตัวแทนยุวทูตไปศึกษาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในต่างประเทศ โดยมหาวิทยาลัยฯ คาดหวังว่าผลสัมฤทธิ์ในโครงการนี้จะสามารถสร้างนักศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นบัณฑิตที่พึงประสงค์ และสามารถขยายผลสู่นักศึกษากลุ่มอื่นๆ ได้ และเมื่อนักศึกษากลุ่มนี้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยไปแล้วจะสามารถนำเอาความรู้ ทักษะและประสบการณ์ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพและดำเนินชีวิตเป็นบัณฑิตที่มีคุณค่าเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีประสิทธิภาพ เป็นที่ต้องการของสถานประกอบการ ประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป