กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายพีรพันธ์ คอทอง ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีกระแสข่าวเครือข่ายบริษัทแห่งหนึ่งอ้างว่ามีเงินทุนจากยูเอ็นและธนาคารโลกให้เกษตรกรที่สมัครเป็นสมาชิกโครงการเกษตรพันธสัญญากับบริษัทกว่า 60,000 คน กู้ยืม แต่ยังไม่มีใครได้เงิน รวมทั้งอาศัยช่วงเวลาข้าวราคาตกชักชวนผู้ค้าข้าวและชาวนากว่า 300 ราย ว่าจะรับซื้อข้าวในราคาสูง สร้างความเสียหายกว่า 23 ล้านบาท อันมีลักษณะเข้าข่ายการกระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชนนั้น สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา (สลพ.) ได้ตรวจสอบและประสานกับสำนักบริหารกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและรับเรื่องร้องเรียน (สกร.) แล้ว สรุปข้อเท็จจริงได้ดังนี้
1. สกร. ได้เคยรับเรื่องร้องเรียนจากประธานกรรมการบริหารบริษัท ไชนี่ อินเตอร์คอร์ปอเรชั่น จำกัด และที่ปรึกษาสหกรณ์การเกษตร วัน วัน วัน จำกัด ขอให้แจ้งเตือนและตรวจสอบกรณีบริษัท พันปี กรุ๊ปฯ ผิดข้อตกลงสัญญาซื้อขายข้าว และมีพฤติกรรมหลอกลวงฉ้อโกงสมาชิกสหกรณ์การเกษตรฯ และเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (สป.กษ.) ได้ส่งเรื่องให้กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อแจ้งเตือนเกษตรกรและองค์กรเกษตรกรให้ระมัดระวัง รวมทั้ง แจ้งสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสุรินทร์เพื่อทราบเป็นข้อมูลในการประสานงานติดตามความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว
2. บริษัท พันปี กรุ๊ป (ไทย ลาว กัมพูชา จำกัด) ได้แจ้งการประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญาต่อ สป.กษ. โดยมีผลเป็นการแจ้งการประกอบธุรกิจตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย. 2561 อย่างไรก็ตาม ยังไม่ปรากฏข้อมูลว่าบริษัทดังกล่าวได้ทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา เนื่องจากยังไม่ปรากฏว่ามีการจัดส่งสำเนาเอกสารสำหรับการชี้ชวนให้ สป.กษ. ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร (บริษัทฯ) ต้องจัดส่งภายใน 30 วันหลังจากที่มีการทำสัญญาครั้งแรก ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดส่งและเก็บรักษาเอกสารสำหรับการชี้ชวนเกษตรกรในระบบเกษตรพันธสัญญา
ทั้งนี้ ข้อกฎหมายระบุว่า ในกรณีที่ บริษัทฯ มีเจตนาทุจริตหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้เกษตรกรเข้าทำสัญญากับบริษัทฯ ทำเอกสารสิทธิ การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และเมื่อการกระทำดังกล่าวได้ทำต่อประชาชน จึงมีความฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ซึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน นอกจากนี้การกระทำของบริษัท พันปี กรุ๊ป ตามที่ปรากฏตามสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เป็นการกระทำที่มีลักษณะโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐
"สำหรับแนวทางการดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหานั้น ได้มีหนังสือแจ้งไปยังบริษัทฯ ให้จัดส่งสำเนาเอกสารสำหรับการชี้ชวนและร่างสัญญาของบริษัทฯ ที่ใช้ในการทำสัญญาส่งเสริมกับเกษตรกร เพื่อตรวจสอบรายละเอียดเงื่อนไขของสัญญา รวมทั้งแจ้งให้เกษตรและสหกรณ์จังหวัด ตรวจสอบข้อมูลจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการกับบริษัทฯ ในพื้นที่ ว่ามีการทำสัญญาหรือไม่อย่างไร และมีรายละเอียดอะไรบ้าง เนื่องจากบริษัทฯ ได้ส่งข้อมูลเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการให้ สลพ. ไว้แล้ว และหากบริษัทฯ มีการเข้าทำสัญญา โดยไม่มีการจัดทำเอกสารสำหรับการชี้ชวนก็จะมีโทษปรับ ไม่เกิน 300,000 บาท ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบข้อกล่าวอ้างของบริษัทฯ เกี่ยวกับการสนับสนุนเงินทุนจากยูเอ็นว่าเป็นความจริงหรือเป็นความเท็จประการใด พร้อมทั้งกำกับ ดูแล ติดตามการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ และการทำสัญญาระหว่าง บริษัทฯ กับเกษตรกรอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกร นอกจากนี้จะทำการแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทฯ หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าบริษัทฯ มีความผิดตามกฎหมายต่อไป" นายพีรพันธ์ กล่าว