กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
กลุ่มชุมชนต.สะเอียบมอบโล่นวัตกรรมประชาธิปไตย แก่เลขาฯ สทนช.ยกย่องในฐานะร่วมผลักดันการพัฒนาแหล่งเก็บกักในพื้นที่ลุ่มน้ำยมแบบมีส่วนร่วม สู่การบริหารจัดการน้ำต้นแบบ"สะเอียบโมเดล"
วันนี้ ( 10 พ.ค.61) เวลา 10.00 น. นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดโอกาสให้นายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ตำบลสะเอียบ จ.แพร่ และผู้นำชุมชนตำลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ เข้าพบ พร้อมรับมอบโล่เกียรติยศ และเกียรติบัตรนวัตกรรมประชาธิปไตย รางวัลนวัตกรรมดีเด่น ประเภทชุมชน/องค์กร ในการประกวดนวัตกรรมประชาธิปไตย ประจำปี พ.ศ. 2560 ที่ชุมชนสะเอียบได้รับจากรัฐสภา ณ ห้องประชุมสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อาคารสำนักงาน ก.พ. (เดิม)
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดเผยว่า ขอขอบคุณกลุ่มชุมชนตำบลสะเอียบ ที่ได้เดินทางเข้าพบและมอบโล่เกียรติยศ และเกียรติบัตรจากทางรัฐสภาให้ผมในครั้งนี้ ในฐานะผู้แทนภาครัฐที่ร่วมผลักดันการดำเนินโครงการศึกษาหาทางออกแบบมีส่วนร่วม : กรณีศึกษาการพัฒนาแหล่งเก็บกักในพื้นที่ลุ่มน้ำยม ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 โดยร่วมกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในลักษณะภาคีเครือข่าย เพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ประกอบด้วย กรมชลประทาน กองทัพภาคที่ 3 กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จังหวัดแพร่ จังหวัดพะเยา จังหวัดลำปาง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ราษฎรในพื้นที่ และสถาบันการศึกษาโดยมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งจากความร่วมมือในการดำเนินโครงการดังกล่าว ส่งผลให้ความขัดแย้งระหว่างประชาชนในพื้นที่และรัฐบาล ในกรณีของเขื่อนแก่งเสือเต้นที่เป็นปัญหาในพื้นที่มายาวนานยุติลง นำไปสู่ยุคใหม่ของการร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำตามแนวทาง"สะเอียบโมเดล" ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จในการจัดการน้ำโดยชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการน้ำของ สทนช.และรัฐบาลในการสร้างการมีส่วนร่วมและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ซึ่ง สทนช.พร้อมให้การสนับสนุนและขยายผลการจัดการน้ำโดยชุมชน เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืนในพื้นที่อื่นด้วย
ด้าน นายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ตำบลสะเอียบ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประชาชนตำบลสะเอียบขอบคุณรัฐบาลที่มองเห็นถึงความสำคัญในการรับฟังความต้องการ และพยายามแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่ง ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ถือว่าเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการดำเนินโครงการศึกษาพัฒนาแหล่งเก็บกักในพื้นที่ลุ่มน้ำยม ที่สอดรับกับแนวคิดการบริหารจัดการน้ำของชาวสะเอียบ จนเกิดเป็นความร่วมมือของประชาชนตลอดทั้งลุ่มน้ำยมตอนบน อันจะนำไปสู่การพัฒนาแบบมีส่วนร่วมที่ยั่งยืน ซึ่งล่าสุดกลุ่มภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนลุ่มน้ำยมตอนบน ได้มีการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการพัฒนาแหล่งน้ำ ตลอดจนร่วมกันดูแล ปรับปรุง และพัฒนาระบบส่งน้ำและระบบระบายน้ำแบบบูรณาการจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ลุ่มน้ำยมด้วย