กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--กทม.
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย รศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ ผู้อำนวยการเขตสวนหลวง และผู้อำนวยการเขตประเวศ ตรวจเยี่ยมพื้นที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในจุดอ่อนน้ำท่วมบริเวณถนนพัฒนาการ และถนนศรีนครินทร์
นายอภิรักษ์ เปิดเผยว่า เนื่องจากมีฝนตกอย่างต่อเนื่องมากกว่า 100 มม.ปรอท ตั้งแต่กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้น้ำท่วมขังในซอยต่างๆ ของถนนพัฒนาการหลายจุด โดยหมู่บ้านพลเทพ ซอยพัฒนาการ 46,50,54 มีน้ำท่วมสูงถึงเกือบ 30 ซม. สำนักการระบายน้ำและสำนักงานเขตสวนหลวงจึงได้ติดตั้งและเดินเครื่องสูบน้ำถึง 3 จุด เพื่อเร่งระบายน้ำในซอยลงคลองหัวหมาก และคลองลาว ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในช่วงนี้ได้ ทั้งนี้ได้สั่งการให้เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะหมดฝน
ส่วนในหมู่บ้านทองการ์เด้น หมู่บ้านผาสุก ซอยพัฒนาการ 65 ได้ประสานไปยังหมู่บ้านเมืองทองการ์เด้นซึ่งมีบึงรับน้ำขนาดใหญ่พอสมควร สามารถรับน้ำได้ถึงประมาณ 3 แสนลบ.ม. เพื่อขอใช้บึงรับน้ำดังกล่าว โดยกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำชั่วคราว และเร่งระบายน้ำออกไปทางคลองบ้านม้า และคลองประเวศบุรีรมย์ต่อไป สถานการณ์น้ำในขณะนี้จึงขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนจะมีมากน้อยเพียงใด ซึ่งได้ให้สำนักการระบายน้ำและสำนักงานเขตต่างๆ เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาวกรุงเทพมหานครจะดำเนินการยกผิวการจราจรถนนศรีนครินทร์และถนนพัฒนาการบริเวณแยกพัฒนาการ ซึ่งเป็นจุดน้ำท่วมซ้ำซากให้สูงขึ้นประมาณ 50 ซม. ทั้งนี้จะใช้เวลาดำเนินการทั้งสิ้นประมาณ 750 วัน โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าได้ผู้รับเหมาประมาณต้นปีหน้า และน่าจะดำเนินการยกพื้นผิวจราจรแล้วเสร็จประมาณต้นปี 53
ทั้งนี้จากการสอบชาวบ้านในบริเวณดังกล่าวทราบว่า "เมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่ผ่านมา น้ำในซอยบริเวณดังกล่าวสูงถึงประมาณ 30 ซม. แต่หลังจากที่กรุงเทพมหานครได้ส่งเจ้าหน้าที่มาเร่งระบายน้ำตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้วันนี้สภาพน้ำท่วมขังในซอยดังกล่าวเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่ได้มาดำเนินการเร่งระบายน้ำทุกคนที่ได้ทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่"
นอกจากนี้กรุงเทพมหานครได้ติดตามสถานการณ์น้ำเหนือที่จะไหลมายังกรุงเทพฯ ซึ่งกรมชลประทานได้เร่งระบายน้ำลงมาจากเดิมที่ระบายลงมาประมาณ 1,700 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันได้เร่งระบายลงมาในปริมาณสูงถึงประมาณ 2,077 ลบ.ม./วินาที ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงถึง 1.72 ม. ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนที่พักอาศัยตามริมแม่น้ำเจ้าพระยาบ้าง อย่างไรก็ดีได้ประสานงานไม่ให้ระบายน้ำลงมาเกิน 2,500 ลบ.ม./วินาที ไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนมากนัก ทั้งนี้การเร่งระบายน้ำดังกล่าวเพื่อจะได้ไม่ต้องระบายน้ำลงมาในปริมาณสูงมากนักในช่วงปลายเดือน ต.ค. ซึ่งจะมีน้ำทะเลหนุนสูง อันเป็นการลดผลกระบทต่อประชาชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาในทางหนึ่งด้วย