กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--ธามดี พลัส
บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส ประกาศงบไตรมาสแรกของปี 2561 รายได้รวม 907 ล้านบาท กำไร 145 ล้านบาท เพิ่ม 16.8 % และ 10.1 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชี้กลยุทธ์บริหารยอดเติมเงินเฉลี่ยต่อตู้เห็นผลเพิ่มเป็น33,457 บาทต่อตู้ต่อเดือน ผลักดันยอดเติมเงินรวมไตรมานี้ 10,421 ล้านบาท ย้ำรายได้หลักมาจากการเติมเงินมือถือกว่า 80% และครองผู้นำตลาดเติมเงินมือถือที่มีช่องทางการเติบโตอีกมาก ด้านบริการโอนเงินกระแสการตอบรับยังดีจากกลุ่มลูกค้าที่นิยมใช้เงินสด ย้ำคงเป้ายอดเติมเงินปีนี้ให้เติบโตไม่ต่ำกว่า 20% จากปีก่อน พร้อมเพิ่มตู้บุญเติมใหม่ที่ 20,000 ตู้ พร้อมเดินหน้าเจรจาแบงก์โอนเงินเพิ่ม และอัดบริการที่ครบครันเพิ่มความถี่การใช้งานให้มากขึ้น
นายสมชัย สูงสว่าง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือ FSMART ผู้นำช่องทางการชำระเงินที่มีเครือข่ายมากที่สุดในประเทศไทยผ่าน "ตู้เติมเงินออนไลน์บุญเติม" เปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2561 ว่า บริษัทมีรายได้รวม 907 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.8% และกำไรสุทธิ 145 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.1 % จากงวดเดียวกันปีก่อนที่บริษัทมีรายได้ 777 ล้านบาท กำไรสุทธิ 132 ล้านบาท โดยมีมูลค่าการเติมเงินอยู่ที่ 10,421 ล้านบาท จากจำนวนตู้บุญเติมกว่า 130,404 ตู้ ขณะที่ยอดเติมเงินเฉลี่ยต่อตู้หรือ ARPU อยู่ที่ 33,457 บาท มากกว่าเดือนธันวาคม 2560 ที่มี ARPU อยู่ที่ 32,873 บาทต่อตู้ ซึ่งมาจากกลยุทธ์ให้ตัวแทนบริการสำรวจและคัดสรรพื้นที่ติดตั้งตู้บุญเติมในจุดที่มีคุณภาพ รวมถึงเพิ่มบริการหน้าตู้ที่หลากหลายเพื่อเพิ่มความถี่ในการใช้งานที่บริษัทวางนโยบายไว้
ทั้งนี้ บริษัทยังมีรายได้หลักกว่า 80% มาจากบริการเติมเงินโทรศัพท์ระบบเติมเงินล่วงหน้าและรับชำระเงินออนไลน์อื่นๆ ขณะที่รายได้ของบริการโอนเงินอยู่ที่ประมาณ 8% ของรายได้รวม ส่วนที่เหลือเป็นรายได้อื่นๆ อาทิ การซื้อสติกเกอร์ไลน์ การเติมเกมส์ ชั่งน้ำหนัก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การโอนเงินถือเป็นช่องทางการหารายได้เพิ่มที่มีอัตราการใช้ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการใช้บริการโอนเงินในเดือนมกราคม 24,200 รายการต่อวัน เดือนกุมภาพันธ์ 26,400 รายการต่อวัน และเดือนมีนาคมมียอดโอนเงิน 27,300 รายการต่อวัน แสดงให้เห็นถึงฐานลูกค้าของบริษัทที่แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์
"ไตรมาสนี้ถือว่าได้แสดงให้เห็นถึงกลยุทธ์การเพิ่ม ARPU ที่ประสบความสำเร็จ ควบคู่ไปกับการเพิ่มจำนวนตู้ตามจุดคุณภาพ โดยยอดเติมเงินยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับบริการโอนเงินที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยตู้เติมเงินตู้บุญเติมกว่า 85% จะอยู่ในต่างจังหวัด ซึ่งเป็นฐานลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่มีความต้องการใช้งานเพื่อความสะดวกสบาย ไม่ต้องเดินทางไกล และนิยมใช้จ่ายด้วยเงินสด ขณะที่ตู้เติมเงินอีก 15% จะอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีการใช้เพิ่มขึ้นเช่นกัน"นายสมชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน "ตู้เติมเงินออนไลน์บุญเติม" ยังถือเป็นผู้นำตลาดเติมเงินมือถือด้วยสัดส่วน 22% ของมูลค่าตลาดเติมเงินมือถือรวมประมาณ 1.33 แสนล้านบาท โดยมีผู้ใช้เลขหมายโทรศัพท์มือถือระบบเติมเงินกว่า 70 ล้านเลขหมาย แต่มีการใช้ผ่านตู้เติมเงินบุญเติม 25 ล้านเลขหมายหรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 35% ทำให้ยังมีโอกาสในการเพิ่มอัตราการเติบโตอีกมาก
นายสมชัย กล่าวว่า การดำเนินงานของบริษัทในปีนี้ ยังคงเดินตามนโยบายการบริหารยอดเติมเงินเฉลี่ยต่อตู้ต่อเดือน (ARPU) ให้เติบโตมากกว่าปีก่อน หลังจากเห็นผลสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา โดยวางเป้าหมายไว้ ARPU ให้เติบโตไม่ต่ำกว่า 5% ด้วยการคัดสรรพื้นที่ติดตั้งตู้บุญเติมในจุดที่มีคุณภาพ และปรับเปลี่ยนทำเลใหม่ให้กับตู้เติมเงินที่มียอดเติมเงินไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยยังวางเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนตู้บุญเติมในปีนี้ที่ 20,000 ตู้ ซึ่งจะส่งผลให้สิ้นปีจะมีตู้บุญเติม 144,653 ตู้ทั่วประเทศ
นอกจากนี้ บริษัทยังคงเดินหน้าเจรจาเพิ่มบริการโอนเงินผ่านตู้บุญเติมต่อเนื่อง จากที่ให้บริการอยู่ 2 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย( KTB) และธนาคารกสิกรไทย(KBANK) โดยวางเป้าหมายเพิ่มโอนเงินผ่านธนาคารอื่นในปี 2561 คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้ เช่นเดียวกับ การเพิ่มบริการอื่นๆที่หลากหลายจากที่ให้บริการกว่า 70 รายการ เพื่อเพิ่มความถี่ในการใช้งาน อาทิ การจำหน่ายสติ๊กเกอร์ Line การบริการรับชำระบิลค่าสาธารณูปโภคให้ครอบคลุมมากขึ้น การบริการรับชำระเงินสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ให้มากขึ้นกว่าเดิม โดยเชื่อว่าจะช่วยให้ลูกค้ามีความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น และช่วยรักษาฐานลูกค้าเดิม และเพิ่มลูกค้าใหม่ ๆ ในการใช้งาน รวมถึงผลักดันให้มียอดเติมเงินโดยรวมในปี 61 เติบโต 20% จากปีก่อน
สำหรับแอพพลิเคชั่นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์บนมือถือ "Be Wallet" ธุรกิจต่อยอดสำหรับกลุ่มที่ใช้สมาร์ทโฟน เพื่อใช้ชำระเงินในการซื้อสินค้าจากตู้กดเครื่องดื่มอัตโนมัติ (Vending Machine) รวมถึงรองรับการดำเนินธุรกิจการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายออนไลน์ (e-Marketplace) และรองรับการขยายตัวของธุรกิจที่เกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ในอนาคต ยังคงมีอัตราการเติบโตของผู้ใช้งานอย่างต่อเนื่อง จากการส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาดเพื่อแนะนำการใช้งาน ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถมีผู้ใช้บริการในปีนี้ไม่ต่ำกว่า 200,000 รายตามเป้าหมาย