กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--
"เกรียงไกร เพียรวิทยาสกุล" บิ๊กบอส SCI มั่นใจผลงานปี 61 โตแกร่ง แย้มเจ่อคว้างานใหญ่ทั้งในและต่างประเทศอีกเพียบ ล่าสุดตุน Backlog หนากว่า 400 ล้านบาท ส่วนโรงงานผลิตเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงในเมียนมา คาดเปิดภายในไตรมาส 3 ตามแผน ขณะที่ไตรมาส 1/61 มีรายได้ 381.92 ล้านบาท โดยรายได้จากธุรกิจหลักปรับตัวเพิ่มขึ้น
นายเกรียงไกร เพียรวิทยาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีไอ อีเลคตริค จำกัด (มหาชน) (SCI) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อยในไตรมาส 1/2561 มีรายได้รวม 381.92 ล้านบาท ลดลง 208.65ล้านบาท หรือ 35.55% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนมีรายได้รวม 590.56 ล้านบาท โดยยอดขายจากธุรกิจหลักปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งจากธุรกิจตู้สวิตช์บอร์ด และเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง ทั้งนี้ในไตรมาส 1/2561 บริษัทฯขาดทุนสุทธิ 23.19 ล้านบาท ลดลง 29.55 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 6.36 ล้านบาท สาเหตุหลักเกิดจากผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน และราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น
สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2561 บริษัทฯยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขยายฐานรายได้ให้กับบริษัทฯ โดยในส่วนของการลงทุนในประเทศในปีนี้จะมีการลงทุนของบริษัทร่วมทุนคือ บริษัท ทียูทิลิตี้ส์ จำกัด หรือ TU ซึ่งเป็นบริษัทร่วมลงทุนระหว่าง SCI และบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) หรือ PF โดย SCI ถือหุ้น 45% เพื่อลงทุนในพลังงานทดแทนและสาธารณูปโภคต่างๆ
โดยในปีนี้ TU มีเป้าหมายรับงานโซลาร์รูฟบนหลังคาโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกำลังการผลิตรวม 20 เมกะวัตต์ โดยมีโครงการที่ได้เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับโรงงานอุตสาหกรรมไปแล้ว 4 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างทยอยจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ส่วนที่เหลือคาดว่าจะทยอยติดตั้งในปีนี้และปีหน้า
ทั้งนี้ ปัจจุบัน SCI มีงานในมือที่รอรับรู้รายได้จากในประเทศ (Backlog) ประมาณ 400 ล้านบาท แบ่งเป็นงานเสาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประมาณ 300 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นงานสวิตซ์บอร์ด
ส่วนความคืบหน้าการลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงและเสาสื่อสารโทรคมนาคม และชุบกัลป์วาไนซ์ ที่เมียนมา คาดว่าจะสามารถเริ่มเปิดโรงงานได้ในช่วงไตรมาส 3/61 และจะเริ่มผลิตได้ตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2561 เป็นต้นไป โดยเน้นขายภายในประเทศเป็นหลัก
"ธุรกิจเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงในเมียนมามีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายเร่งขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อีกทั้งภาคเอกชนก็เร่งขยายเครือข่ายโทรคมนาคมให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ โดยล่าสุด SCI ได้จับมือกับพันธมิตรในเมียนมา และจีน เพื่อพัฒนาโครงการสายส่งร่วมกัน ซึ่งหากสามารถเจาะตลาดในเมียนมา ได้สำเร็จ SCI จะกลายเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้รับเหมา ซึ่งทั้ง 2 ธุรกิจมีความเกื้อหนุน. กัน ผลักดันรายได้และกำไรเติบโตอย่างแข็งแกร่งและมั่นคง"นายเกรียงไกรกล่าวในที่สุด