กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม หรือ Industry Transformation Center : ITC เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงภาคเอกชนต่าง ๆ ที่ผนึกกำลังตามนโยบายแนวทางประชารัฐในการช่วยเหลือพร้อมให้คำปรึกษาแนะนำทางธุรกิจ การวิจัยเชิงพาณิชย์ ออกแบบและผลิต รวมทั้ง ด้านการเงิน ตลอดจนการบ่มเพาะผู้ประกอบการให้สามารถปรับเปลี่ยนไปสู่การดำเนินธุรกิจ และการพัฒนาสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยให้ SMEs สามารถปรับตัวและพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ในยุคดิจิทัลและพัฒนาให้ผู้ประกอบการไทยก้าวไปสู่ Thailand 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังให้บริการ ในส่วนของ Co-Working Space การบริการเครื่องจักรกลางที่ได้รับความร่วมมือจากองค์กรขนาดใหญ่ ให้ยืมเครื่องจักรที่ทันสมัย เพื่อให้ SMEs สามารถเข้าไปใช้งานได้ เช่น เครื่องสกัดด่วน เครื่องทำอบแห้ง เครื่องสกัดน้ำมันหอมระเหย ฯลฯ โดยมุ่งหวังให้ศูนย์ ITC เป็นศูนย์กลางของการเชื่อมโยงงานวิจัยและพัฒนา ตลอดจน เป็นสถานที่ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่าง ๆ ไปสู่ภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ให้สามารถพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ทั้งผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต รวมถึงบุคลากรในประเทศ ให้สามารถเปลี่ยนแปลง หรือ Transform สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และ ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลากว่า 8 เดือน นับจากการเปิดตัวของศูนย์ ITC กล้วยน้ำไท อย่างไม่เป็นทางการ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา มีผู้สนใจเข้ามารับบริการกว่า 3,800 ราย ได้พัฒนาผลงานนวัตกรรมให้ SMEs ไปแล้วกว่า 100 ชิ้นงาน คิดเป็นมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท
ขณะเดียวกันกระทรวง ฯ ได้ขยายงานบริการไปยังศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคทั้ง 11 แห่ง ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมเซรามิก จังหวัดลำปาง และศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมระดับจังหวัดอีก 64 จังหวัด รวมเป็น 76 จังหวัด โดยนำรูปแบบจากศูนย์ ITC ส่วนกลางไปเป็นต้นแบบ และปรับให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในพื้นที่ เพื่อให้บริการและสนับสนุน SMEs ในระดับภูมิภาค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ของฝากและของที่ระลึกต่างๆ ตัวอย่างเช่น ศูนย์ ITC เชียงใหม่ เน้นในด้านกาแฟ ชาและสมุนไพร ศูนย์ ITC ที่สงขลา เน้นในด้านอาหารแปรรูป ปาล์มและยาง ศูนย์ ITC ที่จังหวัดอุบลฯ เน้นด้านข้าว มัน และ บรรจุภัณฑ์ ศูนย์ ITC ที่ชลบุรี เน้นผลไม้ เครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ เป็นต้น ในขณะที่ ITC จังหวัด ก็เน้น การออกแบบผลิตภัณฑ์ การทำให้สินค้าเข้าสู่ตลาดออนไลน์ เป็นต้น ทั้งนี้ ทุกศูนย์ฯ จะสามารถเปิดให้บริการได้ทั้งหมดภายในปี 2561 นอกจากนี้ ยังได้ประสานความร่วมมือไปยังการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในการขยายบริการศูนย์ ITC ไปยังพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตลอดจนเตรียมศึกษาความเป็นไปได้ในการ ขยายพื้นที่อื่น ๆ เพื่อส่งเสริมการยกระดับเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมทั้งประเทศ ขานรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งคาดว่าจะสามารถทำให้ผู้ประกอบการไทยในท้องถิ่น มีศักยภาพเพิ่มขึ้นและสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาล
นอกจากการขยายผลการดำเนินงานของศูนย์ ITC ทั่วประเทศแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้สร้าง ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศอีกหลายโครงการ มาเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญอีกแรงหนึ่ง โดยเฉพาะ อย่างยิ่งความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น ภายใต้โครงการ Connected Industries ซึ่งดำเนินกิจกรรมนำร่อง "Three-Stage Rocket Approach" หรือ "จรวด 3 ขั้น ผลักดัน SMEs สู่ 4.0" ที่เปรียบเสมือนจรวดช่วยขับเคลื่อนให้ SMEs ของไทย สามารถเข้าถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทั้ง 3 กระบวนการต่าง ๆ มีความเชื่อมโยงกันในด้านเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติ อันเป็นหัวใจสำคัญของ อุตสาหกรรม 4.0 ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมกับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) ได้ลงนามความร่วมมือตามหนังสือแสดงเจตจำนง (Memorandum of Intent) โดยประเทศญี่ปุ่นพร้อมสนับสนุนกิจกรรมการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยโดยเฉพาะ 10 อุตสาหกรรม S-curve ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่ Industry 4.0 ซึ่งการขับเคลื่อนดังกล่าวได้มีการเตรียมกิจกรรมไว้ 3 โครงการ ได้แก่ 1. Three-Stage Rocket Approach 2. Open Innovation Columbus และ 3. Flex Campus โดยเครื่องมือทั้ง 3 นี้จะเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 ได้เป็นอย่างดี" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว
สำหรับ Three-Stage Rocket Approach" หรือ จรวด 3 ขั้นในการขับเคลื่อน SMEs เปรียบเสมือนเครื่องมือช่วยขับเคลื่อนให้ SMEs ของไทย ให้สามารถเข้าถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หุ่นยนต์ และ ระบบอัตโนมัติได้อย่างรวดเร็ว ซึ่ง 3 กระบวนการดังกล่าวประกอบด้วย ขั้นตอนที่ 1 Visualize Machine คือ การรวบรวมข้อมูลจากเครื่องจักรให้เป็นดิจิทัลและนำมาใช้วิเคราะห์เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กับบริษัท iSmart Technologies Corporation ขั้นตอนที่ 2 Visualize Craftsmanship คือ การเก็บข้อมูลการเคลื่อนไหวของแรงงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อวิเคราะห์การทำงานให้มีเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เป็นความร่วมมือระหว่าง กสอ. กับ บริษัท iSmart Technologies Corporation บริษัท Toyo Business Engineering corporation โดยในขั้นตอนที่ 1 และ 2 ได้นำร่องติดตั้งระบบในผู้ประกอบการ SMEs ที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 10 ราย และขั้นตอนที่ 3 Lean Automation System Integrators : หรือ LASI Project คือ การพัฒนาโครงการสาธิตการผลิตแบบลีนออโตเมชั่น ซึ่ง กสอ. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ บริษัท เด็นโซ่คอร์เปอเรชั่นไปแล้วเมื่อวันที่ 19 มกราคม ที่ผ่านมา เพื่อติดตั้งสายการผลิตต้นแบบเป็นแหล่งการเรียนรู้เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติแก่ภาคอุตสาหกรรมไทย และ ภาคการศึกษาไทย
ด้านนายคัทซึฮิโกะ ซุกิโตะ กรรมการบริหาร บริษัท เด็นโซ่คอร์ปอเรชั่น (สำนักงานใหญ่ เมืองคาริยะ จังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่น) กล่าวว่า การสร้างระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน "เด็นโซ่" ใช้หลักการ Lean Automation ซึ่งจะทำการกำจัดความสูญเปล่าในระบบการผลิตทั้งหมด ก่อนออกแบบและนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ ทำให้การใช้งานระบบอัตโนมัติเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในทุกกระบวนการ ซึ่งเด็นโซ่หวังที่จะพัฒนาผู้ประกอบการ Lean Automation System Integrator ที่มีศักยภาพของไทยผ่านโครงการนี้ โดยเชื่อว่าจะก่อให้เกิดการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรม Automation ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนหลักของนโยบาย Thailand 4.0 ไปพร้อม ๆ กับการประสานแนวคิด Connected Industries ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่อุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทยในอนาคต ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้รับมอบหมายจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น(JETRO) ในการจัดตั้งโครงการพัฒนาผู้ประกอบการ Lean Automation System Integrator ภายใต้แนวคิด Connected Industries เพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิตของผู้ประกอบการไทยให้อยู่ในระดับสูงได้ ซึ่งการพัฒนาหรือการนำเครื่องจักรที่เป็นแบบอัตโนมัติมาใช้เพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการพัฒนาบุคลากรของผู้ประกอบการ System Integrator ให้สามารถประสานเทคโนโลยีด้านออโตเมชั่น(Automation) ให้เข้ากับเทคโนโลยีสารสนเทศในการกำจัดความสูญเปล่าของสายการผลิตหรือโรงงานได้ทั้งหมด
สำหรับศูนย์ ITC ได้จัดตั้งอาคาร Showcase ที่มีการจำลองระบบการผลิตเพื่อเรียนรู้หลักการกำจัดความสูญเปล่า และการออกแบบระบบการผลิตแบบ Lean Automation ประกอบด้วย หุ่นยนต์เคลื่อนไหวได้จำนวน 7 ตัว เทคโนโลยีด้าน IoT รวมถึงเทคโนโลยีการจำลองเครื่องจักรและระบบการผลิต เพื่อใช้สำหรับเรียนรู้การใช้งานหุ่นยนต์พื้นฐานและการออกแบบระบบการผลิตแบบอัตโนมัติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยชุดสาธิตระบบการผลิตยุคใหม่นี้จะติดตั้งอยู่ที่ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) อาคารปฏิบัติการ Shop A ซอยตรีมิตร กล้วยน้ำไท กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และถือเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ของทุกภาคส่วน ดังนั้น หากผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้ามาสัมผัสระบบการผลิตแบบใหม่นี้ได้อย่างอิสระ อย่างไรก็ตามหลังเสร็จสิ้นโครงการในปีนี้แล้วจะมีการประเมินผลปรับหลักสูตรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กสอ. ยังมีการพิจารณาขยายผลโครงการนี้ไปยังหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนต่อไป
สำหรับกิจกรรม Transformation Week ระหว่างวันที่ 8–11 พฤษภาคม 2561 รวมระยะเวลา 4 วัน เพื่อแสดงความพร้อมของศูนย์ ITC อันเป็นหัวใจสำคัญต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ โดยใช้ Concept ว่า "ศูนย์ ITC : Where Transformation Begins" หมายความว่า หากต้องการ ทรานฟอร์ม ต้องมาที่ ศูนย์ ITC ซึ่งมีเครือข่ายทั่วประเทศ เป็นงานที่เป็นส่วนต่อเนื่องและนำไปสู่งาน SME Transform #พร้อมเปลี่ยน ที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 18 – 20 พฤษภาคม 2561 ณ อิมแพค เมืองทองธานี ต่อไป