กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--เดอะเวย์ คอมมิวนิเคชั่น
CHG อวดไตรมาสแรกกำไรสดใส 193 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 26% รับผลบวกลูกค้าให้การตอบรับดี หลังขยายพื้นที่ใช้บริการ จุฬารัตน์3-จุฬารัตน์9 และจุฬารัตน์11 พร้อมโชว์ความแข็งแกร่งทำรายได้ 1,080 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 15%
นายแพทย์กำพล พลัสสินทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน) หรือ CHG เปิดเผยว่า ผลประกอบการของบริษัทฯ ประจำไตรมาสที่ 1 ของปี 2561 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2561 บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 193 ล้านเพิ่มขึ้น 40 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 153 ล้านบาท โดยมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ระดับ 18% เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 16%
โดยมีปัจจัยการเติบโตมาจากความสามารถในการควบคุมค่าใช้จ่าย และการเปิดให้บริการโครงการใหม่ ๆ สามารถสร้างรายได้ให้มีการเติบโตตามแผนที่วางไว้ รวมทั้งโครงการเดิมที่มีการขยายพื้นที่รองรับผู้ใช้บริการของโรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต และโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 11 อินเตอร์ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ใช้บริการ
ขณะเดียวกันบริษัทฯ มีรายได้จากการประกอบกิจการโรงพยาบาลประจำไตรมาสที่ 1 ของปี 2561 อยู่ที่ 1,080 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 143 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้อยู่ที่ 937 ล้านบาท เนื่องจากการเติบโตของกลุ่มผู้ป่วยทั่วไป ซึ่งเพิ่มขึ้น 31% แบ่งเป็น รายได้จากกลุ่มผู้ป่วยนอก (OPD) เพิ่มขึ้น 68 ล้านบาท และรายได้จากกลุ่มผู้ป่วยใน (IPD) เพิ่มขึ้น 87 ล้านบาท หลังจากมีการขยายพื้นที่ให้บริการ ทำให้สามารถรองรับจำนวนผู้ใช้บริการได้มากขึ้น รวมทั้งศูนย์ดูแลผู้ป่วยต่างชาติ (IMC) ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับรายได้จากโครงการภาครัฐอื่น ๆ ในไตรมาส 1 ของปี 2561 อยู่ที่ 62 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีรายได้จากโครงการภาครัฐอื่น ๆ อยู่ที่ 55 ล้านบาท เนื่องจากจำนวนผู้มารับบริการสูงขึ้น โดยทางภาครัฐยังคงนโยบายจ่ายเงินเช่นเดิม ส่งผลให้สถานการณ์ และทิศทางมีการเติบโตขึ้น
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีรายได้จากโครงการประกันสังคมในไตรมาส 1 ของปี 2561 อยู่ที่ 364 ล้านบาท ลดลง 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีรายได้จากโครงการประกันสังคมอยู่ที่ 383 ล้านบาท เนื่องจากในช่วงไตรมาส1 ของปี 2560 สำนักงานประกันสังคมได้เริ่มนโยบายตรวจสุขภาพฟรีแก่ผู้ประกันตน แต่ในช่วงไตรมาส1 ของปี 2561 นโยบายตรวจสุขภาพมีการเปลี่ยนแปลงสำหรับผู้ประกันตนที่ตรวจสุขภาพเป็นปีที่ 2 จะลดรายการตรวจลงทำให้รายรับส่วนนี้ลดลง 80% ถึงแม้ว่าจะได้รับปัจจัยบวกจากการปรับอัตราการจ่ายค่าน้ำหนักโรค (RW) สูงขึ้นเป็น 12,800/AdjRw จากเดิมมีอัตราการจ่ายค่าน้ำหนักโรค (RW) อยู่ที่ 10,000/AdjRw
"นอกจากนี้ในไตรมาส 1 ของปี 2561 บริษัทยังมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 34% เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 33% เนื่องจากนโยบายในการควบต้นทุน ประกอบกับบริษัทมีอำนาจต่อรองจากการซื้อยาและเวชภัณฑ์ เพราะการเติบโตของกลุ่ม ถึงแม้ว่าจะมีการขยายพื้นที่ให้บริการได้แล้วเสร็จตามแผน และส่งผลให้เริ่มมีการคิดค่าเสื่อมราคา รวมทั้งค่าใช้จ่ายพนักงานที่เพิ่มขึ้น หลังจากการเปิดโครงการใหม่ แต่บริษัทได้มีการควบคุมต้นทุน ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นมีการเติบโตขึ้น" นายแพทย์กำพลกล่าว