กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
กพร. รุดหน้า จัด นักพัฒน์ พันธุ์ใหม่ ให้คำปรึกษาวิสาหกิจชุมชน พัฒนาทักษะช่าง ลดการสูญเสีย เพิ่มมูลค่าวงจรการผลิต
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์เพื่อตรวจเยี่ยมชมกระบวนการผลิตของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผลิตแปรรูปจากไม้ บ้านหนองบอน และการผลิตวิกผม โดย กพร. ได้เข้าไปให้คำปรึกษาเพื่อลดขั้นตอนกระบวนการสูญเสีย เพิ่มผลิตภาพตามโครงการวิสาหกิจชุมชน ซึ่งการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงาน (Labour Productivity) มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งแรงงาน 1.0 – 4.0 จำเป็นต้องได้รับการฝึกทักษะ เพื่อยกระดับเป็นแรงงานฝีมือ (Skilled Labour) ที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมของประเทศไทย
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า กพร. ได้มอบหมายนักพัฒน์พันธุ์ 280 คน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของ กพร.ลงพื้นที่เพื่อพัฒนาสมรรถนะ ให้คำปรึกษาเชิงลึกด้านการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ปรับปรุงการทำงานและลดการสูญเสียในวงจรการผลิตและการบริการ เป้าหมาย สถานประกอบกิจการ 185 แห่ง พนักงาน 10,000 คน ต้องมีผลิตภาพเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 7 ต่อปี ซึ่งดำเนินการแล้ว 185 แห่ง กว่า 4,000 คน ซึ่งหน่วยงานในสังกัดของ กพร. ได้แก่ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานบุรีรัมย์ (สนพ.บุรีรัมย์) ได้ดำเนินการทั้ง 5 กิจกรรม ได้แก่ ให้คำปรึกษา SME และกลุ่ม OTOP พัฒนาศักยภาพแรงาน จัดประชุมเครือข่าย ทำงานเชิงรุกออกหน่วยเคลื่อนที่ และให้คำปรึกาเพิ่มผลิตภาพแรงงาน 280 คน ขณะนี้ดำเนินการถึงกิจกรรมที่ 5 ตามกรอบและยุทธวิธีของนักพัฒน์ ได้แก่ วิเคราะห์ปัญหา เสนอแนวทางแก้ไขปัญหา พัฒนาปรับปรุงกระบวนการ และมุ่งเป้าผลิตภาพเพิ่มขึ้นให้คำปรึกษาแก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจากไม้ตาล บ้านหนองบอน ด้านการพัฒนาทักษะช่างเพื่อลดการสูญเสียและเพิ่มมูลค่าในวงจรการผลิต ผลิตภัณฑ์กลุ่มเป็นการแปรรูปไม้ตาล และผลิตภัณฑ์จากไม้ เพิ่มมูลค่าโดยการทำผลิตภัณฑ์ อาทิ ทัพพี ตะหลิว ไม้นวด เครื่องแก้ว ช้อน ส้อม เป็นต้น โดยมีช่องทางจำหน่ายสินค้าในตลาดสวนจตุจักร การออกร้านงานแสดงสินค้า ร้านค้าออนไลน์
จากการดำเนินโครงการพบว่า ผู้เข้าอบรมของ สนพ.บุรีรัมย์ จำนวน 50 คน มีรายได้เฉลี่ยต่อการขายสินค้า 800,000 บาท ต่อเดือน เนื่องด้วยระบบโลจิสติกส์ และการขนส่งสินค้า มีกระบวนการผลิตที่สามารถลดการสูญเสีย ช่วยลดต้นทุนเพิ่มรายได้ มีการพัฒนารูปแบบสินค้า ผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย ตอนสนองความต้องการลูกค้า นอกจากนี้สถานประกอบกิจการ SMEs กลุ่ม OTOP กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้แล้ว แรงงานยังก่อให้เกิดทักษะที่หลากหลาย (Multi Skilled Workers) โดยพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้หน่วยงานในสังกัดของ กพร. เข้าไปดูแลเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน และหลักประกันทางสังคม ตลอดจนแนะนำด้านการตลาด โดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย อธิบดี กล่าว