กรุงเทพฯ--7 ก.ย.--ก.ล.ต.
ก.ล.ต. ได้จัดให้ความรู้เกี่ยวกับร่างแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติที่จะออกมารองรับต่อไป ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการมีผลใช้บังคับของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคาดว่าจะมีผลใช้บังคับเร็วๆ นี้
ก.ล.ต. ในฐานะผู้บังคับใช้พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ ได้เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวไปเมื่อปี 2548 โดยมุ่งที่จะขจัดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ออมเงินเพื่อเกษียณอายุผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งการแก้ไขบทบัญญัติต่างๆ จะช่วยสนับสนุนให้ผู้ทำงานหรือผู้ที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถออมเงินอยู่ในระบบได้อย่างต่อเนื่องในช่วงที่มีการโยกย้ายงาน และมีทางเลือกที่จะนำเงินออมของตนไปลงทุนได้หลากหลายขึ้น นอกจากนี้ ยังได้มีการปรับปรุงวิธีการจ่ายเงินคืนให้แก่สมาชิกที่เกษียณอายุ โดยให้สามารถเลือกรับเงินผลประโยชน์เป็นงวดได้เพื่อให้มีความยืดหยุ่นตรงกับความต้องการของสมาชิกมากขึ้น ซึ่งในภาพรวมแล้วผลประโยชน์ที่ได้รับ นอกจากจะช่วยให้ผู้มีวินัยในการออมได้มีเงินใช้ในยามเกษียณอายุแล้ว ยังจะเป็นการช่วยลดภาระของประเทศในการดูแลผู้สูงอายุในอนาคตอีกด้วย
เรื่องที่แก้ไขสำคัญๆ ในกฎหมายดังกล่าว ได้แก่
(1) ให้สมาชิกสามารถคงเงินไว้ในกองทุนเดิมได้ในระหว่างรอโอนย้ายเข้ากองทุนนายจ้างรายใหม่
(2) ผู้ที่ย้ายงานจากภาครัฐมายังภาคเอกชนสามารถโอนเงินจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ มาเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้
(3) เพิ่มทางเลือกแก่ลูกจ้างในการบริหารเงินออม โดยสามารถเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเองได้
(4) สมาชิกที่สิ้นสมาชิกภาพเนื่องจากเกษียณอายุมีสิทธิเลือกรับเงินผลประโยชน์เป็นงวดแทนการรับทั้งจำนวนในคราวเดียวได้ และ
(5) แก้ไขบทบัญญัติที่จะทำให้ลูกจ้างได้รับความเป็นธรรมแก่เกี่ยวกับสิทธิในการได้รับเงินสมทบ
เนื่องจากพระราชบัญญัติกองทุนสำรองลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 ฉบับแก้ไข ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. จึงคาดว่าจะมีผลใช้บังคับในไม่ช้านี้ ดังนั้น ในระหว่างนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจด้านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และสมาคมที่เกี่ยวข้องสามารถเตรียมความพร้อม ก.ล.ต. จึงได้มีการประชุมร่วมกับผู้แทนจากบริษัทจัดการ สมาคมบริษัทจัดการ และสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่แก้ไข รวมทั้งจะเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติตามกฎหมายที่แก้ไข โดยจะนำความคิดเห็นที่ได้รับมายกร่างหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ผู้ที่สนใจสามารถดูข้อมูลเกี่ยวกับความคืบหน้าการเสนอแก้ไขกฎหมายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ที่เว็บไซต์ www.thaipvd.com