กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--ธ.กรุงเทพ
ผลการจัดอันดับธนาคารแห่งปี 2550 ธนาคารกรุงเทพหวนคืนตำแหน่ง Bank of the Year 2007 โชว์กำไรสุทธิติดอันดับ 1 กว่า 1.8 หมื่นล้าน เบียดคู่แชมป์ประวัติศาสตร์เมื่อปีที่แล้วตกอันดับไป โดยธนาคารกสิกรไทย นั่งอันดับ 2 และธนาคารไทยพาณิชย์ รั้งอันดับ 3
วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนตุลาคม 2550 ที่กำลังวางแผงในขณะนี้ ประกาศผลการจัดอันดับธนาคารแห่งปี ประจำปี 2550 หรือ Bank of The Year 2007 ปรากฏว่า ธนาคารกรุงเทพได้ครองตำแหน่งธนาคารแห่งปี 2550 ด้วยผลประกอบการที่งดงาม โชว์กำไรสุทธิสูงเป็นอันดับ 1 ถึง 18,910.27 ล้านบาท และกำไรสุทธิต่อหุ้น 9.90 บาท สูงเป็นอันดับ 1 เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้จากความได้เปรียบของธนาคารกรุงเทพที่มีฐานลูกค้าที่กว้างขวาง ประกอบกับความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยาวนานกับลูกค้า ผนวกเข้ากับเครือขายสาขาที่ครอบคลุมทั้งในประเทศและเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจสำคัญทั่วภูมิภาคเอเชีย ส่งผลให้ธนาคารยักษ์ใหญ่แห่งนี้ยังคงยืนหยัดรักษาตำแหน่งผู้นำอยู่ได้ในภาวะการแข่งขันที่ร้อนแรงเช่นนี้
ส่วนธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ 2 แชมป์เก่าที่ครองตำแหน่งร่วมกันเมื่อปีที่แล้วตกไปอยู่อันดับ 2 และอันดับ 3 ตามลำดับ
สำหรับอันดับ 4 ตกเป็นของน้องใหม่ ธนาคารเกียรตินาคิน ตามติดด้วยธนาคารน้องใหม่อีกแห่ง คือ ธนาคารทิสโก้ที่ครองอันดับ 5 ร่วมกับธนาคารรุ่นพี่ อย่างธนาคารนครหลวงไทย เบียดธนาคารกรุงไทยหล่นไปอยู่อันดับ 7 และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) อันดับ 8
ด้าน ธนาคารสินเอเซีย ก้าวเข้าสู่ทำเนียบธนาคารแห่งปีเป็นครั้งแรกด้วยการครองอันดับ 9 แซงธนาคารรุ่นพี่ที่ยังประสบปัญหาขาดทุนไว้ในอันดับท้ายๆ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่ตกไปอยู่อันดับ 10 ธนาคารธนชาต อันดับ 11 ธนาคารยูโอบี อันดับ 12 ธนาคารไทยธนาคาร อันดับ 13 และรั้งอันดับ 14 ท้ายสุด ด้วยธนาคารทหารไทย ที่ประสบผลขาดทุนสูงถึงกว่า 33,000 ล้านบาท
สำหรับเกณฑ์ในการพิจารณาจัดอันดับธนาคารแห่งปี 2550 (Bank of The Year 2007) ยังคงใช้เกณฑ์การพิจารณา ที่เป็นมาตรฐานสากลเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา โดยนำผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ในช่วง 1 กรกฎาคม 2549-30 มิถุนายน 2550 มาคำนวณหาอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ซึ่งในปีนี้ปีนี้ ได้ต้อนรับธนาคารน้องใหม่เข้ามาประชันฝีไม้ลายมืออีก 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเกียรตินาคิน ธนาคารทิสโก้ และธนาคารสินเอเซีย รวมธนาคารพาณิชย์ที่เข้ามาทำการจัดอันดับทั้งสิ้น 14 แห่ง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการทำธุรกิจของธนาคารมีความแตกต่างกันตามนโยบายและเป้าหมายของแต่ละธนาคาร โดยธนาคารขนาดใหญ่และขนาดกลางส่วนใหญ่จะมุ่งสู่การเป็นธนาคารที่ให้บริการครบวงจร หรือ Universal Bank ส่วนธนาคารขนาดเล็กจะมุ่งหาตลาดหรือธุรกิจที่ตนเองมีความชำนาญเฉพาะด้านหรือ Niche Market ส่งผลให้ความสามารถของพนักงานแตกต่างกันไปตามความเชี่ยวชาญในแต่ละธุรกิจ การเปรียบเทียบประสิทธิภาพของพนักงานจึงทำได้ค่อนข้างยาก ดังนั้นในปีนี้จึงไม่ได้นำปัจจัยในด้านรายได้รวมต่อพนักงานมาใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา
ส่วนเกณฑ์การตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อรวมก็ยังคงนำมาใช้เป็นปัจจัยวัดความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการปล่อยสินเชื่อของแต่ละธนาคาร นอกจากนี้การตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญยังสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อการบริหารความเสี่ยง และความมั่นคงของธนาคารในอีกด้านหนึ่งด้วย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
คุณพรพิมล (แมว) คุณอัจฉรา (ปู่) คุณจิระประภา (ปู๋)
โทร. 0-2691-4126-30