“ตำหนักโขน” เชิดชูเอกลักษณ์ศิลปะไทย เพิ่มมูลค่าด้วย ‘แพคเก็จจิ้ง’

ข่าวทั่วไป Monday October 15, 2007 15:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--ITAP
นายยงศักดิ์ ฉัตรสีรุ้ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตำหนักโขน จำกัด เจ้าของโครงการอุทยานตำหนักโขน และผู้ผลิตหุ่นกระบอกและหัวโขนแบบโบราณ เปิดเผยว่า จากการที่บริษัทฯ เตรียมเปิดตัวโครงการอุทยานตำหนักโขนขึ้น บนพื้นที่กว่า 10 ไร่ 86 ตร.วา ถนนเชียงใหม่-ดอยสะเก็ด กม.9 ประมาณต้นปี 2551 ภายใต้ธีม ‘เสน่ห์ล้านนา มรดกอันล้ำค่าจากรามเกียรติ์ ’ ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว และพิพิธภัณฑ์โขนครบวงจรแห่งแรกของไทยแล้ว ยังต้องการให้เป็นแหล่งการอนุรักษ์และเรียนรู้ของเยาวชนไทยได้สืบสานงานศิลปะอันล้ำค่าของไทย
แต่เนื่องจากการผลิตหุ่นกระบอกและหัวโขนแบบโบราณนั้น เป็นงานฝีมือที่เกิดจากภูมิปัญญาและมีความละเอียดอ่อน ประณีต พิถีพิถัน ทำให้เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มักซื้อกลับไปเป็นของที่ระลึก แต่ปัญหาที่พบบ่อยคือสินค้ามักเกิดการชำรุดเสียหายระหว่างเดินทาง เนื่องจากการบรรจุหรือแพคเก็จจิ้งที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะยังไม่เคยไม่มีการผลิตแพคเก็จจิ้งสำหรับบรรจุผลิตภัณฑ์ประเภทนี้มาก่อน ส่วนใหญ่จะห่อหุ้มด้วยพลาสติกกันกระแทกและบรรจุลงกล่องหิ้วกลับไปเท่านั้น ทำให้ไม่น่าดูแม้สินค้าที่บรรจุอยู่ภายในจะมีมูลค่ามากเพียงใดก็ตาม
ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีแนวคิดที่จะออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับหัวโขนและหุ่นกระบอกขึ้นใหม่ โดยบริษัทฯ ได้เข้ารับความช่วยเหลือจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย(iTAP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เครือข่ายภาคเหนือ ที่จัดส่งผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2 ท่าน คือ นายสมชาย วงศ์สุริยศักดิ์ และนายสุพัฒน์ คำไทย เข้ามาเป็นที่ปรึกษาในโครงการ“การพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับหัวโขนและหุ่นกระบอกต้นแบบ” เพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์และวัสดุกันกระแทกมาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์หัวโขน จำนวน 3 ขนาด ( เล็ก กลาง และใหญ่) และหุ่นกระบอก จำนวน 2 ขนาด ( จิ๋วและมาตรฐาน)
ผลที่ได้รับทำให้บริษัทฯ ได้ทราบเทคนิคและแนวทางในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์หลากหลายมากขึ้น มีบรรจุภัณฑ์และวัสดุกันกระแทกที่มีความสวยงามและแข็งแรง สามารถยกระดับมาตรฐานในการจัดจำหน่าย โดยมีบรรจุภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของบริษัท และสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ สามารถขยายตลาดทั้งภายในประเทศและส่งออกได้มากขึ้น เนื่องจากมีบรรจุภัณฑ์ที่สามารถป้องกันความเสียหายของสินค้าจากการขนส่งได้ดีขึ้น นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังสามารถนำกระดาษที่เหลือใช้จากการผลิตสินค้ามาพัฒนาเป็นวัสดุในการทำบรรจุภัณฑ์ได้ใหม่ ช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบและแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
“ จากแนวคิดที่ต้องการเพียงบรรจุภัณฑ์ที่ดูดี และป้องกันความเสียจากการขนส่งให้กับลูกค้า แต่ยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์จากบรรจุภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้น นอกจากจะเพิ่มความสวยงามให้กับสินค้าแล้ว ยังใช้ประโยชน์จากบรรจุภัณฑ์ในการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการทำหัวโขนโบราณ เพื่อเป็นการให้ความรู้แก่ลูกค้าได้อีกด้วย ซึ่งในส่วนตัวแล้ว มองว่า บรรจุภัณฑ์ไม่ใช่เพียงแค่การบรรจุสินค้าเท่านั้น แต่ยังมีความหมายที่สามารถสื่อให้เห็นถึงความสำคัญของสินค้าที่อยู่ภายในอีกด้วย แม้จะเป็นการเพิ่มต้นทุน แต่หากเรามองย้อนอีกด้านว่า การที่ได้บรรจุภัณฑ์ลักษณะที่มีการเล่าเรื่องราวได้ จะช่วยสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าได้ จึงเห็นว่า ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไม่ถือเป็นเรื่องใหญ่ แต่สิ่งสำคัญ คือ ความพึงพอใจของลูกค้าต้องมาก่อน ซึ่งในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ดังกล่าว ทางบริษัทฯ มีความรู้สึกพึงพอใจอย่างมาก และได้ดำเนินการจดสิทธิบัตรบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวไว้เรียบร้อยแล้ว” คุณยงศักดิ์ กล่าว
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ มีจำหน่ายทั้งแบบปลีกและส่ง ทำให้บริษัทมีการขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น คาดว่าจะมีการจ้างแรงงานกว่า 300 คน และมีสินค้านำเสนอมากกว่า 500 รายการ เพื่อขยายสู่การส่งออกในโอกาสต่อไป
ด้าน นางสมศรี พุทธานนท์ ที่ปรึกษาเทคโนโลยี โครงการ iTAP ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช. เครือข่าย ภาคเหนือ กล่าวว่า การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวเป็นแนวคิดจากผู้ประกอบการที่นำโจทย์มาให้ผู้เชี่ยวชาญนำไปพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค หรือที่เรียกว่า ‘ Form Market To Lab’ โดยมี ประเด็นว่าทำอย่างไรที่จะพัฒนาบรรจุภัณฑ์และนำของเหลือใช้ที่เกิดจากกระบวนการผลิตกลับมาใช้ใหม่ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับหัวโขนและหุ่นกระบอกที่ได้มาตรฐานและทำจากวัสดุธรรมชาติ ด้วยการรีไซเคิลของเสียทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นมา
อย่างไรก็ดี นางสมศรี กล่าวเพิ่มเติมว่า “แม้การพัฒนาดังกล่าวจะเป็นเพียงบรรจุภัณฑ์ต้นแบบ แต่ทางผู้ประกอบการสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาและประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์กับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ต่อไป ถือเป็นเรื่องที่น่าส่งเสริมและสนับสนุน อีกทั้งผู้ประกอบการเองยังได้เตรียมจัดตั้งโครงการอุทยานตำหนักโขนขึ้นเพื่ออนุรักษ์และเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ในอนาคต ดังนั้น การสนับสนุนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวจึงถือเป็นการเตรียมพร้อมด้านอุปกรณ์การจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการอีกด้วย”
ผู้ที่สนใจสินค้าของตำหนักโขน สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณยงศักดิ์ ฉัตรสีรุ้ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตำหนักโขน จำกัด เลขที่ 188/32 หมู่บ้านคุรุสภา ถ.เชียงใหม่-ดอยสะเก็ด ต.สันนาเม็ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ 50210 โทรศัพท์ 053-398312 , 053-398858 แฟ็กซ์ 053-398468 มือถือ 081-884-5760 หรือ ที่เว็บไซต์ www.tamnakkhon.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ