สวทช. หนุน SMEs เฟอร์นิเจอร์ไทย ปรับแนวคิดการผลิต จากผู้รับจ้างผลิต ยกระดับสู่ ‘ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์’

ข่าวทั่วไป Tuesday September 11, 2007 15:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--สวทช.
สวทช. จับมือ สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย จัด ‘โครงการ จากแนวคิด.....สู่แนวค้า : เพื่อพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทย’ หวัง ผลักดันผู้ประกอบการปรับแนวคิดจากผู้รับจ้างผลิต(OEM) สู่นักออกแบบผลิตภัณฑ์ (ODM) เพื่อความอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดโลก หลังสินค้าราคาถูกจากจีนและเวียดนามเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยบางรายเริ่มปิดกิจการลง ขณะที่สมาคมฯ ตั้งเป้า พัฒนาอุตสาหกรรมยกระดับเฟอร์นิเจอร์ไทยสู่ การเป็น ODM ภายใน 5 ปี
อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของไทยช่วงที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 10% แต่หลังจากปี2549 การเติบโตไม่เพียงแต่ไม่เพิ่มขึ้น กลับลดถดถอยจนติดลบเป็นผลจากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดโลก อีกทั้งสภาวะวัตถุดิบขาดแคลน และประสบปัญหาจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบโดยตรงกับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งพึ่งพาอัตราแลกเปลี่ยนมากเกินไป และยังได้รับผลกระทบจากประเทศคู่แข่งที่มีต้นทุนถูกกว่า อย่าง จีน เวียดนาม และมาเลเซีย เนื่องจากผู้ประกอบการของไทยยังคงเน้นการผลิตสินค้าราคาถูก ผลคือ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ก็จะต้องปิดกิจการไป ดังนั้น จึงจำเป็นที่ผู้บริหารในวงการเฟอร์นิเจอร์ต้องปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ เพื่อปรับตัวเองให้พร้อมแข่งขันในตลาดโลก
รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะกำกับดูแลโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) กล่าวว่า โครงการ iTAP (สวทช.) ร่วมกับ กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย จัด โครงการ “จากแนวคิด....สู่แนวค้า : เพื่อพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทย” ขึ้น ซึ่งเป็นการต่อยอดโครงการ ติดอาวุธผู้บริหาร : อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทย ที่ได้ปิดโครงการไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
“จากผลความสำเร็จของโครงการติดอาวุธผู้บริหารฯ ที่ได้ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์และให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการด้วยกัน 3 เรื่อง คือ เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมไม้ การออกแบบ และการตลาดแล้ว แต่สมาคมฯ ต้องการให้เห็นผลจริงในแง่ปฏิบัติ จึงยังต้องการให้ทาง iTAP เข้ามาช่วยต่อยอดให้เกิดการปฏิบัติได้จริงในโรงงานทั้งเรื่องของเทคโนโลยีและการออกแบบ เพราะการออกแบบหรือดีไซน์จะต้องสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่จะใช้ คือ ดีไซน์แล้วต้องผลิตได้จริง ดังนั้นจึงเกิดโครงการ จากแนวคิด...สู่แนวค้าฯ ขึ้น โดยครั้งนี้ยังได้ร่วมความมือจากหลายหน่วยงานเพิ่ม ประกอบด้วย กรมส่งเสริมการส่งออก สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) และสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (สสท.) และ สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย ”
โดยวัตถุประสงค์ของโครงการฯ เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนแนวคิด การผลิต จากในอดีตที่ทำธุรกิจแบบรับจ้างผลิต OEM ( Original equipment Manufacturer ) เปลี่ยนมาเป็นการผลิตภายใต้รูปแบบของตนเอง ODM ( Own Design Manufacturer) และต่อยอดจนสามารถผลิตได้ภายใต้แบรนด์สินค้าของตนเอง หรือ OBM ( Own Brand Manufacturer ) เพื่อเป็นการพัฒนาแบบบูรณาการให้สามารถทำงานได้อย่างยั่งยืนด้วยองค์ความรู้ทั้งสามด้าน คือ ด้านการผลิต การออกแบบ และการตลาด รวมทั้งการนำระบบไอทีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต
โครงการฯ ดังกล่าว จะแบ่งออกเป็นสองเฟส คือ เฟสที่ 1 เน้นเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์และการตลาด โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เข้ามาเป็นที่ปรึกษา มีระยะเวลา 1 ปี มีโรงงานเข้าร่วม 12 แห่ง โดยในเฟสนี้ ได้ตั้งเป้าให้เกิดนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ขึ้นในโรงงาน พร้อมกับผลิตผลงานต้นแบบนำไปจัดแสดงในงาน Thailand International Furniture Fair (TIFF) 2008 ซึ่งจะจัดขึ้นประมาณเดือนมีนาคมปีหน้า ส่วนเฟสที่ 2 จะเน้นเรื่องของการพัฒนาการผลิตและการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มีผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) และผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันเพิ่มผลผลิต เข้ามาเป็นที่ปรึกษาเนื่องจากการเพิ่มผลผลิตทางอุตสาหกรรมต้องอาศัยองค์ความรู้ในเรื่องของ “วิศวกรรมอุตสาหการ” ซึ่งเฟสนี้จะมีระยะเวลา 1 ปี มีโรงงานเข้าร่วม 30 แห่ง รวมระยะเวลาโครงการ 2 ปี ตั้งแต่ปีเดือนสิงหาคม 2550 — มีนาคม 2552
นายวรรธนะ เจริญนวรัตน์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย กล่าวว่า จากเดิมที่ตลาดเคยเป็นของผู้ขายทำให้กว่า 20 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทยเติบโตมาตลอด แต่ปัจจุบันเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอย และมีการแข่งขันกันสูง อีกทั้งยังมีคู่แข่งขันเกิดขึ้นใหม่อย่างเวียดนามเพิ่มอีก ดังนั้น ผู้ประกอบต้องเร่งปรับตัวให้มากขึ้น ซึ่งทางสมาคมฯ พยายามจัดกิจกรรมและโครงการต่างๆ ขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รวมตัวกัน ปรับตัวและพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมาทางสมาคมฯ ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ iTAP (สวทช.) จัดทำโครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกสมาคมฯ และอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของไทยอย่างต่อเนื่อง
คาดว่า โครงการ “จากแนวคิด....สู่แนวค้าฯ” นี้ จะมีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น และหวังให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะเป็นโรงงานนำร่องให้กับโรงงานอื่นๆ ได้พัฒนาต่อไป โดยสมาคมฯ มีเป้าหมายอยากเห็นอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทยมุ่งไปสู่การเป็น ODM ภายในระยะเวลา 5 ปี ปัจจุบันสมาคมฯ มีสมาชิกประมาณ 400 ราย กว่า 80% เป็นผู้ประกอบการส่งออก ขณะที่มีโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ขนาดกลางและเล็กกระจายอยู่กว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ
ด้านนายจิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์ เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ขณะนี้แนวคิดหรือวิสัยทัศน์ของผู้ประกอบการรุ่นใหม่เริ่มเปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยรับจ้างผลิต (OEM) มาเป็นการสร้างรูปแบบของตนเอง (ODM) กันบ้างแล้ว แต่การออกแบบหรือดีไซน์นั้นยังไม่ตรงความต้องการของลูกค้า จึงต้องมีการสนับสนุนจากภาครัฐทั้งเรื่ององค์ความรู้ และเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ดังนั้น การเข้าร่วมในโครงการฯ นี้จะช่วยไปสู่เป้าหมาย คือ การสร้างดีไซน์(ODM) และการสร้างแบรนด์ (OBM) เพื่อการทำตลาดได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทยกลับมาเข้มแข็งได้อีกครั้ง
“ การแข่งขันทางธุรกิจในปัจจุบันหากมีการรวมตัวกัน และดำเนินกิจกรรมร่วมกันในโครงการต่างๆ ที่จัดขึ้น เชื่อว่าจะนำไปสู่การพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่จะเชื่อมโยงธุรกิจและธุรกรรมเข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้การผลิตที่ได้มาตรฐาน จากความสามารถในการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยตนเอง และมีแนวทางการสร้างการตลาดด้วยแนวคิดสู่ธุรกิจได้จริง”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ