กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 (การจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2561 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป
สาระสำคัญของพระราชกำหนดดังกล่าวมี 2 ประการ ได้แก่
1. กำหนดให้เงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัลและผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลเฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุนเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งเป็นเงินได้ประเภทผลตอบแทนทางการเงินโดยอยู่ใน (ซ) และ (ฌ) ของมาตรา 40 (4) ดังกล่าว
2. กำหนดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายสำหรับบุคคลธรรมดาที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ซ) และ (ฌ) ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้
พระราชกำหนดดังกล่าวทำให้การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลมีความชัดเจนยิ่งขึ้น แต่มิได้ทำให้ผู้ทำธุรกรรมดังกล่าวต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด สำหรับธุรกรรมอื่น ๆ เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลจะเสียภาษีตามประมวลรัษฎากรปัจจุบัน โดยสินทรัพย์ดิจิทัลถือเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง จึงมีภาระภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกันกับทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างอื่นๆ
ในส่วนการกำหนดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นกรมสรรพากรจะได้เสนอกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาภาระให้แก่บุคคลธรรมดาที่ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลผ่านศูนย์ซื้อขายที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 กรมสรรพากรจะได้เสนอกฎหมายยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป นอกจากนี้ กรมสรรพากรอยู่ระหว่างหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลผ่านนายหน้าหรือศูนย์ซื้อขายที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล
ศูนย์สารนิเทศสรรพากร กรมสรรพากร โทร. 1161