กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--กองประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยวิทยาสาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ "การสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรเพื่อสุขภาพและความงาม ครั้งที่ 1: Herbal & Nuceutical Market" ภายใต้โครงการตามแผนงานบูรณาการส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ นำร่องพื้นที่จังหวัดปทุมธานี หวังส่งเสริมและสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรด้วยนวัตกรรมตามหลักการอุปสงค์นำการค้า เพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการและเกษตรกรเชิงพาณิชย์ รวมทั้งสร้างเครือข่ายและองค์ความรู้นวัตกรรมสินค้าเกษตรเพื่อสุขภาพและความงาม อันจะนำไปสู่เป้าหมายโครงการฯ คือ การสร้างสินค้าต้นแบบด้านสุขภาพและความงามที่มีคุณภาพและมาตรฐาน (วันที่ 15 พ.ค. 2561 ณ วว. เทคโนธานี จ.ปทุมธานี)
นายวิรัช จันทรา รองผู้ว่าการกลุ่มบริการอุตสาหกรรมและรักษาการรองผู้ว่าการกลุ่มยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรม วว. กล่าวว่า วว. เล็งเห็นความสำคัญในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสม เข้ามาพัฒนาเพื่อส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามในจังหวัดปทุมธานี กิจกรรมที่จัดขึ้นในวันนี้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ ในการนำผลงานวิจัยและพัฒนาของ วว. มาช่วยพัฒนากลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร ผู้รวบรวมวัตถุดิบสมุนไพร ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และผู้จำหน่ายสินค้า ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับรายได้ พัฒนาสังคม และสร้างอาชีพใหม่ของชุมชนได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดปทุมธานี จะเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนและผลักดัน วทน. ให้มีการต่อยอดในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามจากพืชสมุนไพร ที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดปทุมธานี ได้แก่ บัวหลวง กล้วยหอมทอง และฝรั่งแป้นสีทอง ทำให้มูลค่าเศรษฐกิจของจังหวัดปทุมธานีสูงขึ้น
"...การอบรมเชิงปฏิบัติการในวันนี้ วว. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดปทุมธานี จะร่วมช่วยกันพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการ ให้เกิดความยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจ สนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงแก้ปัญหาต่างๆ ได้ด้วย วทน. รวมทั้งเกิดความร่วมมือ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีช่องทางในการสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น อันเป็นแนวทางในการพัฒนาจังหวัดอย่างยั่งยืนต่อไป...." นายวิรัช จันทรา กล่าว
นางชไมพร ขำทอง พาณิชย์จังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า จังหวัดปทุมธานีมีแผนพัฒนาจังหวัดในการเสริมสร้างความเข้มแข็งกระบวนการผลิตและการแปรรูปสินค้าเกษตรและอาหารให้มีความปลอดภัยอย่างครบวงจร โดยมุ่งเน้นกลยุทธ์การเพิ่มขีดความสามารถเชิงธุรกิจของผู้ประกอบการและสถาบันเกษตรกร ให้ผลิตภัณฑ์มีมาตรฐานและมีศักยภาพเชิงธุรกิจ สามารถแข่งขันตลาดในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการในจังหวัดปทุมธานีให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ประชาชนและนักท่องเที่ยว ทั้งยังเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ สู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่น (Local Economy) และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจจังหวัดปทุมธานี
"...สำนักงานพาณิชย์จังหวัดปทุมธานี จึงเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาสินค้าและบริการต้นแบบด้วยนวัตกรรม โดยเฉพาะสินค้าเกษตรเพื่อสุขภาพและความงาม ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคมีความสนใจและมีแนวโน้มใช้แพร่หลายมากขึ้น มาว่าจะเป็นวัยหนุ่มสาว วัยทำงาน หรือผู้สูงอายุ ที่หันมาใส่ใจสุขภาพ อย่างไรก็ตามการที่จะให้ผลิตภัณฑ์มีความโดดเด่น มีคุณภาพ และปลอดภัยต่อผู้บริโภคนั้น ต้องผ่านการคิดค้นวิจัย การใช้นวัตกรรมและการรับรองคุณภาพ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค...ด้านการตลาดเราก็ให้ความสำคัญ การดำเนินงานภายใต้โครงการนี้ ยังกำหนดให้มีกิจกรรมการแสดงนิทรรศการ จำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์เพื่อ สุขภาพและความงามด้วย เราให้ความสำคัญและมุ่งเน้นการส่งเสริมพัฒนาทั้งห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์ ทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โอกาสนี้ขอขอบคุณ วว. และผู้เข้ารับการอบรมทุกท่าน ที่ร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาสินค้าและบริการด้วยการใช้งานวิจัยและนวัตกรรม ผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามต้นแบบ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ไปต่อยอดธุรกิจ สร้างงานสร้างรายได้และพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดปทุมธานีให้เข้มแข็งต่อไป" พาณิชย์จังหวัดปทุมธานีกล่าว
สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วยการบรรยาย แนะนำโครงการและการสาธิตการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามจากวิทยากรผู้ทรงวุฒิจาก วว. และหน่วยงานเครือข่าย ในหัวข้อที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและเสริมความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการและเกษตรกร ดังนี้ 1.การบริการและกลไกการสนับสนุนผู้ประกอบการ STIM 2.แนะนำโครงการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรเพื่อสุขภาพและความงาม (Herbal & Nuceutical Market) ภายใต้โครงการตามแผนงานบูรณาการส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ จังหวัดปทุมธานี 3.สาธิตการผลิต ผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม 4.การให้คำปรึกษา และวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ผู้ประกอบการผ่านกลไกสนับสนุน ได้แก่ STI for OTOP UPGRADE คูปองวิทย์เพื่อโอทอป STIM ITAP และการรับลงทะเบียนผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ วว. และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดปทุมธานี จะร่วมการจัดอบรมฯ ครั้งที่ 2 ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ อาทิ เครื่องสำอางกับสมุนไพร เทคโนโลยีการสกัดสมุนไพรเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม สารออกฤทธิ์ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและหลักการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสมุนไพรพื้นฐาน อันจะนำไปสู่เป้าหมายโครงการฯ คือ การสร้างสินค้าต้นแบบด้านสุขภาพและความงามที่มีคุณภาพและมาตรฐาน