กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สวิตเซอร์แลนด์เป็นอีกประเทศหนึ่งในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศที่ให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) กับประเทศไทย โดยสินค้าเกษตรส่วนใหญ่จะได้รับการลดหย่อนภาษีนำเข้าส่วนสินค้าอุตสาหกรรมสวิตเซอร์แลนด์จะยกเว้นภาษีนำเข้า ยกเว้นสินค้ากลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะได้รับการลดหย่อนภาษีนำเข้าร้อยละ 50-75 ของอัตราภาษีปกติ ทั้งนี้ เพื่อปกป้องสินค้ากลุ่มดังกล่าวภายในประเทศ
สำหรับในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2550 (ม.ค.-ก.ค.) ไทยกับสวิตเซอร์แลนด์มีมูลค่าการค้าระหว่างกันรวม 1,910.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าส่งออก 741.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่านำเข้า 1,168.63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ามูลค่า 426.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ทองคำ ส่วนประกอบของยานอากาศ ส่วนประกอบของนาฬิกา และ อัญมณีเครื่องประดับ เป็นต้น
ด้านการใช้สิทธิพิเศษทางภาษี GSP ในช่วง ม.ค.-ก.ค. 2550 กรมการค้าต่างประเทศได้ออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Form A) ไปสวิตเซอร์แลนด์ จำนวน 5,794 ฉบับ มีมูลค่า 154.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.88 ของมูลค่าการส่งออกรวม รายการสินค้าที่ไทยใช้สิทธิ GSP สูงได้แก่ หน้าปัดนาฬิกา เพชรพลอย/ส่วนประกอบ กล่องใส่เครื่องประดับ สินค้าสิ่งทอจำพวกผ้าร่อน และส่วนประกอบเครื่องจักร เป็นต้น สำหรับสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกแต่ไม่ได้ใช้สิทธิหรือใช้ สิทธิน้อย ได้แก่ สายนาฬิกา/ส่วนประกอบของนาฬิกา เฟอร์นิเจอร์ กล่องพลาสติก และอัญมณี เป็นต้น
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่ผ่านมาการใช้สิทธิ GSP ไปสวิตเซอร์แลนด์ ยังไม่สูงเท่าที่ควรเนื่องจากปัจจัยสำคัญดังนี้ (1) ส่วนต่างระหว่างอัตราภาษี MFN (Most Favoured Nation) และ GSP ไม่มาก (2) เกณฑ์การได้แหล่งกำเนิดที่มีความเข้มงวดสูง (3) การแข่งขันที่รุนแรงจากสินค้าจีนและคู่แข่งอื่นๆ เป็นต้น อย่างไรก็ดี กรมการค้าต่างประเทศในฐานะหน่วยงานหลักทำหน้าที่กำกับดูแลและส่งเสริมการส่งออกภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางการค้าต่าง ๆ จะทำการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง โดยการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการให้แก่ผู้ส่งออกทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อกระตุ้นให้มีการส่งออกโดยใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษ GSP มากขึ้น