กรุงเทพฯ--16 พ.ค.--ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT เปิดเวทียิ่งใหญ่ดึงนักสะสมชั้นนำของเมืองไทย นำงานศิลปหัตถกรรมล้ำค่า หาดูยาก เผยแพร่ให้ร่วมชื่นชมในงานเสวนา "ของรักของหวง หัตถกรรมล้ำค่า รักษาไว้ให้ถึงลูกหลาน" มุ่งให้นักสะสมได้มีโอกาสแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างกัน เป็นแรงผลักดันให้เกิดทัศนคติในความนิยมของกลุ่มผู้ริเริ่มสะสมงานศิลปหัตถกรรม และสร้างแรงบันดาลใจผ่านชิ้นงานของผู้ที่มีทักษะฝีมือเชิงช่าง จนเกิดการนำไปพัฒนาเป็นผลงาน Masterpiece หรือปรับประยุกต์เป็นผลงานเชิงสร้างสรรค์พัฒนาต่อยอดขยายผลองค์ความรู้เชิงนวัตศิลป์ต่อไป
นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า SACICT มีบทบาทในด้านการส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาในงานศิลปหัตถกรรม และส่งเสริมการสร้างสรรค์งานหัตถศิลป์ สู่ความร่วมสมัย และเชิงพาณิชย์ ได้เห็นถึงความสำคัญการถ่ายทอดองค์ความรู้งานศิลปหัตถกรรมที่สะท้อนถึง ซึ่งภูมิปัญญาทั้งศาสตร์และศิลป์เชิงช่าง และเทคนิคเชิงช่างชั้นสูงที่มีการสะสมไว้เป็นสมบัติล้ำค่าของผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการนักสะสม จึงได้จัดงานเสวนาและนิทรรศการ "ของรัก ของหวง : หัตถกรรมล้ำค่า รักษาไว้ให้ถึงลูกหลาน" ขึ้น เพื่อเป็นเวทีให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการนักสะสม ผู้ที่ชื่นชอบงานศิลปหัตถกรรม ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ได้มีโอกาสพบปะได้แลกเปลี่ยนมุมมอง ถ่ายทอดแรงบันดาลใจ และแบ่งปันประสบการณ์ในงานศิลปหัตถกรรมร่วมกันระหว่าง นักสะสมชั้นนำหลากหลายวงการ รวมทั้งนักสะสมในวงการบันเทิง ดารานักแสดง ร่วม 30 ท่าน กว่า 200 ชิ้น
โดยเฉพาะผลงานที่เป็นฝีมือของช่างไทยรุ่นบรรพบุรุษนับตั้งแต่อดีต ผลงานบางชิ้นมีอายุเกินกว่า 200 ปี เช่น เครื่องเงินสลักดุนเทคนิคเชิงช่างชั้นสูงตามแบบราชสำนักนับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ เครื่องทองโบราณ เครื่องถม พระหินแกะสลัก เครื่องทองลงยาสี เครื่องประดับทองโบราณ โถปริกกระเบื้อง เบญจรงค์สมัยกรุงศรีอยุธยาและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เครื่องเขินแบบศิลปะล้านนาดั้งเดิมและศิลปะเมียนมา (พม่า) งานประติมากรรม งานปั้นชาโบราณแบบจีน ผ้าทอหลายเทคนิค ชุดชนเผ่าจากหลากหลายวัฒนธรรม เครื่องจักสานย่านลิเภาอายุนับ 100 ปี เครื่องประดับมุก ขันลงหิน งานผ้าที่ใช้ในราชสำนักสยาม ผ้าแพรเบี่ยงในตำนานที่มีอายุกว่า 200 ปีที่สูญหายไปจากวิถีชีวิตแล้ว เครื่องถ้วยเบญจรงค์โบราณแบบจีนและแบบสมัยรัชกาลที่ 4 เครื่องลงรักสมัยเจ้าเมืองอุบลและเครื่องลงรักเขมรโบราณ อายุกว่า 100 ปี บาตรโบราณในตำนานบาตรบุบ้านบาตร เป็นต้น
ในงานครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากนักสะสมงานหัตถกรรมชั้นนำระดับประเทศ ที่จะมาถ่ายทอดองค์ความรู้และเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย อาทิ ภูมิใจ บุรุษพัฒน์ ผู้บริหารร้านอาหารเฮือนเพ็ญ และโรงแรมเฮือนเพ็ญ จังหวัดเชียงใหม่ สะสมงาน เครื่องเขินแบบศิลปะล้านนา และศิลปะเมียนมา (พม่า) ที่อาจกล่าวได้ว่ามีสะสมไว้มากที่สุดท่านหนึ่งของประเทศไทย กฤษณ์ โรจนเสนา เจ้าของโรงแรมบ้านกลางเวียง เชียงใหม่ และรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ มนัท สูงประสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ทั้งสองท่านสะสมทั้งเครื่องทองโบราณ เครื่องถม และเครื่องเงินตามแบบราชสำนัก นับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งจะหาชมได้ยากยิ่งนัก และนักสะสมคนรุ่นใหม่ในวงการบันเทิงอย่าง เขมนิจ จามิกรณ์ หรือแพนเค้ก ที่ชื่นชอบในงานผ้าทอมือจนกลายเป็นความรักและสะสมผ้าทอของกลุ่มวัฒนธรรมต่างๆ เรื่อยมา
นอกจากนี้ ยังมีบุคคลระดับช่างฝีมือที่ SACICT เชิดชูเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ใน แต่ละปีนั้น นำผลงานสะสม ของรัก ของหวงมาร่วมจัดแสดง และแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้ฝีมือเชิงช่างด้วย อาทิ ครูวีรธรรม ตระกูลเงินไทย ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2554 ผู้สะสมงานผ้าราชสำนัก และงานหัตถกรรมสะสมหลากหลายชนิด นับตั้งแต่อดีตสมัยกรุงศรีอยุธยา อายุนับ 200 ปี ครูมีชัย แต้สุจริยา ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2559 ในครั้งนี้จะนำผลงานสะสมอย่างเครื่องลงรักสมัยเจ้าเมืองอุบล และเครื่องลงรักเขมรโบราณ อายุกว่า 100 ปี มาร่วมจัดแสดง ครูอรอนงค์ วิเศษศรี ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2556 กับงานผ้าทอลาวครั่งโบราณที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ อายุกว่า 200 ปี
นางอัมพวัน กล่าวเพิ่มเติมว่า การสะสมวัตถุสิ่งของที่มีความหลากหลายอาจเกิดขึ้นด้วยแรงบันดาลใจที่มีความแตกต่างกันไป บางคนเกิดจากความชอบในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นพิเศษเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยส่วนตัวมาตั้งแต่ในวัยเด็ก หรือเกิดขึ้นจากความผูกพันที่เห็นบรรพบุรุษเก็บสะสม สิ่งเหล่านี้จึงผูกพันอยู่ในวิถีชีวิตเรื่อยมา นักสะสมหลายคนอาจได้รับวัตถุสิ่งของเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่นแล้วก็เก็บรักษากันสืบต่อไป งานสะสมแต่ละชนิดแต่ละประเภท อาจมีทั้งที่ไม่มีค่า ไม่มีราคา แต่มีคุณค่าทางจิตใจ และเป็นความผูกพันของผู้สะสม ไปจนถึงรายการของสะสมที่มีค่าที่เป็นทรัพย์สมบัติที่ล้ำค่า จนถึงที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ และสิ่งของสะสมเหล่านี้ย่อมเกิดเป็นของรัก ของหวง ของนักสะสมทุกคนที่มีอยู่ในครอบครองทั้งสิ้น นักสะสมเหล่านี้มีความสุขกับการได้ชื่นชมกับผลงานสะสมของตนเอง และมีความสุขที่ได้แสวงหาสิ่งของมาสะสมเพิ่มเติม และหวังที่จะให้สิ่งของเหล่านี้ตกเป็นมรดกตกทอด ถึงมือของรุ่นลูก รุ่นหลานต่อไปในภายภาคหน้า มีนักสะสมอยู่ไม่น้อยที่สะสมสิ่งของมีค่าไว้เป็นของรัก ของหวงในลักษณะเป็นส่วนตัวโดยไม่ได้เปิดตัว แต่เมื่อมีโอกาสที่เหมาะสมก็พร้อมที่จะนำออกมาเผยแพร่ให้ผู้คนได้ชม เพื่อประโยชน์ในการศึกษาหาความรู้ และร่วมภาคภูมิใจไปด้วยกัน
SACICT มุ่งหวังให้เวทีนี้เป็นโอกาสให้นักสะสม หรือผู้ที่กำลังจะผันตัวเองมาเป็นนักสะสมทุกรุ่น ผู้ที่มีความชื่นชอบในงานศิลปหัตถกรรมต่างๆ ได้มีโอกาสแบ่งปันประสบการณ์การสะสมระหว่างกัน เป็นแรงผลักดันให้เกิดทัศนคติในความนิยมของกลุ่มผู้ริเริ่มสะสมงานศิลปหัตถกรรมเสมือนเป็นการสืบสานต่อเส้นทางงานศิลปหัตถกรรมให้คงอยู่ และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ทำให้ได้มีโอกาสเห็นฝีมือ เทคนิคการสร้างสรรค์ผลงานของบรรพชนที่มีมา แต่โบราณ ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจหรือแนวคิดผ่านชิ้นงานเหล่านี้ของผู้ที่มีทักษะฝีมือเชิงช่าง เกิดการนำไปพัฒนาเป็นผลงาน Masterpiece หรือปรับประยุกต์เป็นผลงานเชิงสร้างสรรค์พัฒนาต่อยอดขยายผลองค์ความรู้เชิงนวัตศิลป์ต่อไป
งานจัดแสดงผลงาน "ของรัก ของหวง: หัตถกรรมล้ำค่า รักษาไว้ให้ถึงลูกหลาน" จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม ถึง วันที่ 3 มิถุนายน 2561 ระหว่างเวลา 8.30 – 16.30 น. ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ สอบถามเพิ่มเติมโทร. 1289 หรือ www.sacict.or.th , www.facebook.com/sacict