กรุงเทพฯ--16 พ.ค.--พีอาร์ นิวส์ บียอนด์
คอยน์ แอสเซท พร้อมปฏิบัติตาม พ.ร.ก. ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยสาระสำคัญของกฎหมายนั้น ให้อำนาจสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำกับดูแล ธุรกิจเงินดิจิทัลในทุกด้าน ทั้งการออกใบอนุญาต ไอซีโอ ซื้อขาย และตรวจสอบ เชื่อจะส่งผลดีต่อระบบการเงินของประเทศในระยะยาว ระบุต้องติดตามระเบียบกฎเกณฑ์ที่ทางสำนักงาน ก.ล.ต. จะออกมา ภายหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้
นายศิวนัส ยามดี ผู้ก่อตั้ง บริษัท คอยน์ แอสเซท จำกัด (CoinAsset) กล่าวถึงพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 และพระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรฉบับที่ 19 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 ว่า บจก. คอยน์ แอสเซท (CoinAsset) ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล พร้อมปฏิบัติตาม พ.ร.ก. ควบคุมการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกมา ซึ่งต้องขอขอบคุณหน่วยงานภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ผลักดันให้ พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าวมีความชัดเจน โดยมองว่า การมีหน่วยงานเข้ามากำกับดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ถือเป็นสิ่งที่ดีต่อระบบการเงินของประเทศในระยะยาว
สำหรับสาระสำคัญของพระราชกำหนด การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 แบ่งเป็น การกำหนดนิยามให้ เงินดิจิทัล และโทเคนดิจิทัล เป็นสินทรัพย์ดิจิทัล โดยแบ่งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1. ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล 2. นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล 3. ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล และ 4. ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล ซึ่งธุรกิจทั้ง 4 ประเภทมีลักษณะที่แตกต่างกันไป ดังนี้
1. ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล คือ ตัวกลางในการซื้อขาย เปรียบเสมือนกระดานเทรด
2. นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล คือ ตัวแทนนักลงทุนในการซื้อขาย ซึ่งเปรียบเสมือนนายหน้าซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
3. ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล คือ เจ้ามือในการซื้อขายเอง เปรียบเสมือนร้านขายทองคำ ที่เป็นเจ้ามือซื้อขายเอง และ
4. ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล คือ ผู้ให้บริการจัดทำไอซีโอ เปรียบเสมือนผู้ให้คำปรึกษาด้านการเงิน
ทั้งนี้ กฎหมายได้ให้อำนาจสำนักงาน ก.ล.ต. ในการออกกฎระเบียบ เพื่อกำกับดูแลในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการออกใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล รวมทั้งสามารถยกเลิกใบอนุญาตดังกล่าวได้ด้วย โดยผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด นอกจากนี้ ยังให้อำนาจสำนักงาน ก.ล.ต. ในการตรวจสอบและควบคุม เช่น เข้าไปในสถานประกอบธุรกิจ ตรวจสอบหรือเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน รวมถึงสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารหลักฐานใด ๆ
ด้านผู้ให้บริการจัดทำไอซีโอ (ICO) ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. และเสนอขายต่อผู้ลงทุนตามประเภทและเงื่อนไขที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดเท่านั้นเช่นกัน โดยการเสนอขายไอซีโอต้องทำการผ่านทางผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. นอกจากนี้ ต้องรายงานผลการดำเนินงานและฐานะการเงินของผู้จัดทำไอซีโอ ให้แก่สำนักงาน ก.ล.ต. ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
นอกจากนี้ ยังได้มีการกำหนดโทษทางแพ่งและทางอาญาสำหรับ ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบหรือหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด รวมถึงกำหนดโทษทางอาญาสำหรับการกระทำที่คล้ายกฎหมายของตลาดหลักทรัพย์ เช่น การใช้ข้อมูลภายใน (Insider Trading) การปั่นราคาเหรียญ (Market Manipulation) รวมถึงการปล่อยข่าวลือหรือกล่าวข้อความอันเป็นเท็จ (Misstatement)
ทั้งนี้ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรฉบับที่ 19 ที่ประกาศออกมานั้น ได้กำหนดให้ผลประโยชน์ที่ได้จากการถือครองโทเคนและกำไรจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษี อีกทั้ง กำหนดให้ผู้จ่ายเงิน ได้ให้แก่ผู้ถือครองโทเคนและผู้จ่ายเงินเพื่อรับโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 แล้วนำส่งให้แก่กรมสรรพากร
นายศิวนัส กล่าวทิ้งท้าย "ถือว่า พ.ร.ก. ที่ประกาศออกมามีความชัดเจนในระดับหนึ่ง และเชื่อว่าการร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่ให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นทั้งธุรกิจสินค้าและบริการ เครื่องดื่ม อุปโภค บริโภค หรือแม้แต่หน่วยงาน สถาบันทางการเงิน ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ในการผลักกระแสเงินทุนไหลเข้าสู่ประเทศ โดยยกตัวอย่างจากประเทศญี่ปุ่น ที่หลังจากมีการออกกฎหมายควบคุมที่ชัดเจนเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลแล้ว ทำให้ประชาชนสามารถใช้สกุลเงินดิจิทัล แทนการใช้เงินสด เพื่อทำธุรกรรมต่าง ๆ และภาคเอกชนก็มีความยินดี พร้อมรับชำระเงินด้วยสกุลเงินดิจิทัลมากขึ้น จากนี้ก็คงต้องติดตามรายละเอียดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่สำนักงาน ก.ล.ต. จะออกมาต่อไป"
เกี่ยวกับบริษัทคอยน์ แอสเซท จำกัด
บริษัทคอยน์ แอสเซท จำกัด ก่อตั้งโดยนายศิวนัส ยามดี และผู้ร่วมก่อตั้งอีก 3 ท่าน ดำเนินธุรกิจศูนย์กลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล (Exchange) ที่มีพันธมิตรมากหลายทั้งในและต่างประเทศ ด้วยเงินจดทะเบียนที่ 30 ล้านบาท มุ่งหวังให้บริการที่เป็นมิตรแก่ผู้ที่สนใจในธุรกิจคริปโต ภายใต้โมเดล "ศูนย์กลางซื้อ / ขาย / แลกเปลี่ยน Cryptocurrencyที่มีมาตรฐานที่ดีที่สุดในอาเซียน"
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาเข้าชมที่ www.coinasset.co.th และ www.coinasset.com