กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--เจดับบลิวที พับบลิค รีเลชั่นส์
เอ็มเอฟซี โชว์ผลงานบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพครองใจพนักงานแบงก์ชาติ รับโบนัสสัญญาการบริหารต่อเนื่องอีก 3 ปี ด้วยแนวทาง Employee’s Choices แห่งแรกขององค์กรรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่
บลจ.เอ็มเอฟซี ได้รับแต่งตั้งจากธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าบริหารจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพรวมมูลค่าทรัพย์สินกองทุนเกือบหมื่นล้านบาทต่อเนื่องอีกวาระ นาน 3 ปี หลังคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยพอใจผลงานการบริหารกองทุน ภายใต้ระบบบริหารความเสี่ยงแบบมืออาชีพ ระบบทะเบียนสมาชิกที่มีประสิทธิภาพสูง พร้อมคุณภาพการบริการ โดยจัดรูปแบบการบริหารกองทุนแบบ Employee’s Choices ให้พนักงานเลือกลงทุนตามความสมัครใจ ได้ถึง 3 กองทุน
ดร.พิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เอ็มเอฟซีได้รับความไว้วางใจจากคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย อย่างต่อเนื่องเป็นวาระที่ 2 ให้บริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย จำนวน 3 กองทุน (Employee’s choices) รวมมูลค่ากองทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท จากจำนวนสมาชิก 3,104 คน ด้วยระยะเวลาการบริหารกองทุน 3 ปี ซึ่งเป็นการบริหารแบบมีบริษัทจัดการร่วม
ธนาคารแห่งประเทศไทยนับเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของพนักงาน โดยมีหลักเกณฑ์การคัดเลือกบริษัทบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่กลั่นกรองคุณภาพและผลงานที่มีมาตรฐาน และประสิทธิภาพสูง โดยในเบื้องต้นจะกำหนดคุณสมบัติของบริษัทจัดการกองทุนที่มีทรัพย์สินสุทธิภายใต้การจัดการขนาดใหญ่ ผลการบริหารกองทุนย้อนหลัง และมาตรฐานเรื่องการบริหารความเสี่ยง ตลอดจนการควบคุมความเสี่ยงในการปฏิบัติงานแต่ละวัน (day-to-day operations) การทดสอบประเมินผลกระทบของความผิดปกติจากเหตุการณ์ต่าง ๆ (Stress Tests) การตัดสินใจในการบริหารความเสี่ยงและการเตรียมการเรื่องแผนฉุกเฉินรองรับ เป็นต้น รวมทั้ง ระบบการตรวจสอบและควบคุมภายในบริษัท ซึ่งคณะกรรมการกองทุนได้เข้ามาเยี่ยมชมการทำงานจริงของบริษัทที่ผ่านเข้ารอบการคัดเลือกดังกล่าวอีกด้วย
ดร.พิชิต กล่าวว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตัดสินใจต่อสัญญาแต่งตั้งให้บลจ. เอ็มเอฟซี บริหารจัดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อเนื่องเป็นวาระที่สอง เนื่องจากเอ็มเอฟซีมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีแผนฉุกเฉิน (Contingency Plan) รองรับ มีผลงานการบริหารกองทุนที่ให้ผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากทีมงานที่มีความสามารถและมีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนเฉพาะด้าน เช่น มีคณะกรรมการการลงทุนเป็นการเฉพาะของตราสารหนี้ ตลอดจน จุดเด่นด้านข้อมูลข่าวสาร ที่ทีมงานได้รับการสนับสนุนข่าวสารออนไลน์จากหลากหลายสำนักข่าวชั้นนำทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น บลูมเบิร์ก รอยเตอร์ส ฯลฯ
ทั้งนี้ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย นับเป็นหน่วยงานภาครัฐแห่งแรกที่สามารถนำรูปแบบของ Employee’s Choices มาใช้ เพื่อให้สมาชิกมีโอกาสเลือกลงทุนด้วยตนเอง โดยแบ่งการลงทุนออกเป็น 3 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนแรก คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบ Fixed Income (ตราสารหนี้) ส่วนกองทุนที่ 2 และกองทุนที่ 3 เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบผสม (Mixed Fund) ที่มีสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนรวมอยู่ด้วย ซึ่งสมาชิกสามารถเลือกกองทุนได้ตามความสามารถในการรับความเสี่ยงของแต่ละคน
นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยยังได้แต่งตั้งให้เอ็มเอฟซีเป็นผู้จัดทำระบบทะเบียนสมาชิกเป็นครั้งแรก จากศักยภาพของระบบทะเบียนสมาชิกที่บลจ.เอ็มเอฟซี พัฒนาขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การเปิดให้สมาชิกสามารถเรียกดูข้อมูลกองทุนผ่านเว็บไซต์ตลอด 24 ชั่วโมงด้วยรหัสส่วนตัวที่มีการจัดส่งรหัสใหม่ให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่องทุก 6 เดือน และการเปิดให้สมาชิกสามารถฟังข้อมูลผ่านระบบโทรศัพท์อัตโนมัติ (IVR) เป็นต้น
ดร.พิชิต กล่าวต่อไปว่า ในปี 2550 ธนาคารแห่งประเทศไทย นับเป็นหน่วยงานภาครัฐขนาดใหญ่แห่งที่สองซึ่งมีการต่อสัญญาว่าจ้างให้ บลจ.เอ็มเอฟซีบริหารจัดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รองจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย ที่มีการลงนามต่อสัญญาไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2550 ที่ผ่านมา
ปัจจุบัน บลจ.เอ็มเอฟซี ดูแลบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่ลูกค้ากว่า 540 ราย คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินรวมทั้งสิ้นกว่า 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนมูลค่าทรัพย์สินของกลุ่มลูกค้าเอกชน 20,000 ล้านบาท และมูลค่าทรัพย์สินของกลุ่มลูกค้าองค์กรรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานภาครัฐ 30,000 ล้านบาท จากจำนวนลูกค้ารัฐวิสาหกิจและหน่วยงานภาครัฐที่บลจ.เอ็มเอฟซีบริหารจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กว่า 10 ราย อาทิ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย และการนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น
การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน
ข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ:
คุณสุทรรศิกา คูรัตน์, คุณสุวรรณา ชีวนันทชัย ศริญญา แสนมีมา /จารุรัตน์ มั่นเจริญศิริ
บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) เจดับบลิวที พับบลิค รีเลชั่นส์
โทร.0-2649-2112, 0-2649-2113 โทร. 0-2204-8552, 0-2204-8218
โทรสาร 0-2259-9246