กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
- วิทยาศาสตร์ฯ มธ. รับยุทธศาสตร์ชาติ เปิด 3 หลักสูตรใหม่ ปีการศึกษา 61 เตรียมปั้น 'นักวิทยาศาสตร์พันธุ์ใหม่' รับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โชว์ศักยภาพนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ จัดงาน "Senior Project #4" ตลาดวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ฝีมือนวัตกรพันธุ์ใหม่ ครั้งที่ 4 ที่มุ่งแก้ปัญหาสังคมและต่อยอดทางธุรกิจกว่า 400 ชิ้นงาน โดยมีตัวอย่างผลงานไฮไลท์ อาทิ Rubber Tree Bark for Steelmakingเหล็กกล้าจากขี้เส้นยางพารา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ชาวสวนยาง และลดการนำเข้าคาร์บอนจากต่างประเทศ TU Care Giver แอปฯ แมชชิ่งบุรุษพยาบาล ให้พร้อมบริการผู้ป่วย-ผู้สูงอายุถึงเตียงนอน Triage System ระบบจัดคิวผู้ป่วย เพื่อแบ่งเบาภาระหน้าที่ของพยาบาลในการคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้น และ Nano Gel Cosmetic by Banana Blossom เจลจากสารสกัดปลีกล้วย เวชภัณฑ์ที่ซึมเข้าผิวได้ดีไม่มีเหนอะหนะ ทั้งนี้ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ยังได้เปิด หลักสูตรใหม่จำนวน 3 หลักสูตรได้แก่ "หลักสูตรนวัตกรรมอาหาร หลักสูตรพลังงานชีวภาพ หลักสูตรนวัตกรรมข้อมูล" โดยกำหนดเปิดรับในปีการศึกษา 2561 นี้เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ชาติในการสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ อาคารบรรยายรวม 5 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิต โดยมีคณาจารย์ นักศึกษา นักเรียนโครงการ วมว. ตลอดจนภาคีเครือข่ายร่วมงานจำนวนมาก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟสบุ๊คแฟนเพจ www.facebook.com/ScienceThammasat หรือเว็บไซต์ www.sci.tu.ac.th
รศ.ดร.สมชาย ชคตระการ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ได้จัดงาน "Senior Project#4" หรือตลาดวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ฝีมือนวัตกรพันธุ์ใหม่ ครั้งที่ 4 ขึ้น เพื่อส่งเสริมการแสดงออกซึ่งศักยภาพของว่าที่นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ผ่านการพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์สุดสร้างสรรค์กว่า 400 รายการ ซึ่งครอบคลุม 6 กลุ่มงานวิจัย ดังนี้ 1. ด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน 2. ด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ 3. ด้านชีววิทยาศาสตร์ 4. ด้านดิจิทัลและระบบการวิเคราะห์ข้อมูล 5. ด้านทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ และ 6.ด้านเทคโนโลยี โดยมีตัวอย่างผลงานไฮไลท์ที่พัฒนาขึ้น เพื่อต่อยอดเชิงธุรกิจและแก้ปัญหาสังคม อาทิ Rubber Tree Bark for Steelmakingเหล็กกล้าจากขี้เส้นยางพารา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ชาวสวนยาง และลดการนำเข้าคาร์บอนจากต่างประเทศ "TU Care Giver" แอปฯ แมชชิ่งบุรุษพยาบาล ให้พร้อมบริการผู้ป่วย-ผู้สูงอายุถึงเตียงนอน "Triage System" ระบบจัดคิวผู้ป่วย เพื่อแบ่งเบาภาระหน้าที่ของพยาบาลในการคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้น และ "Nano Gel Cosmetic by Banana Blossom" เจลจากสารสกัดปลีกล้วย เวชภัณฑ์ที่ซึมเข้าผิวได้ดีไม่มีเหนอะหนะ
นอกจากนี้ คณะฯ ยังได้เล็งเห็นถึงโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) จึงได้เปิด 3 หลักสูตรใหม่ ประจำปีการศึกษา 2561 ดังนี้ 1. หลักสูตรวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทางอาหาร มุ่งผลิตนักนวัตกรรมอาหาร ตอบโจทย์อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร 2. หลักสูตรเทคโนโลยีพลังงานชีวภาพและการแปรรูปเคมีชีวภาพ มุ่งผลิตนักเทคโนโลยี ตอบโจทย์อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ และ 3. หลักสูตรวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล มุ่งผลิตผู้เชี่ยวชาญที่สามารถต่อยอดองค์ความรู้และนวัตกรรมจากข้อมูล สู่การประยุกต์ใช้ในงานธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปั้นนักวิทยาศาสตร์พันธุ์ใหม่ หรือ นักวิทยาศาสตร์ 4.0 ภายใต้ยุทธศาสตร์ "SCI+BUSINESS" ที่สามารถบูรณาการความรู้ "วิทย์-เทคโนโลยี-ผู้ประกอบการ" สู่งานวิจัยและนวัตกรรมวิทยาศาสตร์สุดสร้างสรรค์ ที่มุ่งแก้ปัญหาสังคมและพร้อมต่อยอดทางธุรกิจ โดยหลักสูตรดังกล่าว พร้อมเปิดรับสมัครในแบบรับตรงร่วมกัน (รอบที่ 3) แล้วตั้งแต่วันนี้ – 19 พฤษภาคม 2561 ที่เว็บไซต์ http://tcas.cupt.net
ด้าน นางสาวธมิกา ชะนะสาร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ตัวแทนทีม ผู้พัฒนางานวิจัย "เหล็กกล้าจากขี้เส้นยางพารา" กล่าวว่า งานวิจัยดังกล่าว เป็นการศึกษาและพัฒนา "ขี้เส้นยางพารา" วัสดุเหลือทิ้งจากยางธรรมชาติ ให้กลายเป็นถ่านคาร์บอนคุณภาพสูง เพื่อทดแทนการใช้ถ่านหินจากธรรมชาติ ควบคู่ไปกับการสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร และสนับสนุนภาครัฐลดมูลค่าการนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศ เนื่องจากการกรีดยางในแต่ละวัน จะได้ขี้เส้นยางพาราถึง 1.5 กิโลกรัมต่อวันต่อสวนยางพารา 10 ไร่ เมื่อรวมสวนยางพาราทั้งประเทศกว่า 18 ล้านไร่ ก็จะได้ขี้เส้นยางพาราสูงถึง 2.7 ล้านกิโลกรัมต่อวัน หรือคิดเป็น 2,700 ตันต่อวัน และหากคำนวณการกรีดยางพาราทั้งปีจะได้ขี้เส้นยางพาราเป็นปริมาณมหาศาล ทั้งนี้ จากการศึกษาวิจัยพบว่า ขี้เส้นยางพารา เป็นชีวมวลที่เป็นวัสดุพอลิเมอร์ธรรมชาติ มีองค์ประกอบหลักคือ คาร์บอน (Carbon based material) ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กกล้า ซึ่งเมื่อเปลี่ยนขี้เส้นยางพาราเป็นถ่านคาร์บอนจะสามารถใช้ทดแทนถ่านหินในการผลิตเหล็กกล้าได้มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ดี งานวิจัยดังกล่าว อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาเพิ่มเติม เพื่อศึกษาพฤติกรรมการละลายของคาร์บอนและการทำปฏิกิริยากับตะกรันในเตาหลอม และการนำไปทดลองใช้กับโรงงานผลิตเหล็กเพื่อทดแทนการใช้ถ่านหินเป็นลำดับต่อไป
ทั้งนี้ งาน "Senior Project#4" ตลาดวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ฝีมือนวัตกรพันธุ์ใหม่ ครั้งที่ 4 จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ อาคารบรรยายรวม 5 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิตโดยมีคณาจารย์ นักศึกษา นักเรียนโครงการ วมว. ตลอดจนภาคีเครือข่ายร่วมงานจำนวนมาก
สำหรับผู้สนใจเข้าศึกษาต่อใน 3 หลักสูตรพันธุ์ใหม่ และหลักสูตรอื่นๆ ของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เฟสบุ๊คแฟนเพจwww.facebook.com/ScienceThammasat หรือเว็บไซต์ www.sci.tu.ac.th