สสปน. ผนึก 3 พันธมิตรท่องเที่ยว รุกต่อยอด เปิดโครงการ MICE in Green: the North

ข่าวท่องเที่ยว Tuesday September 4, 2007 10:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ก.ย.--เจดับบลิวที พับบลิค รีเลชั่นส์
สสปน. ผนึก 3 พันธมิตรท่องเที่ยว รุกต่อยอด เปิดโครงการ MICE in Green: the North บูมตลาดท่องเที่ยวและไมซ์ภาคเหนือในช่วงโลว์ซีซั่นถี่ยิบ มั่นใจกระตุ้นกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวและตลาดไมซ์ในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยวตามเป้า
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. จับมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) เปิดโครงการ MICE in Green: the North กระตุ้นตลาดท่องเที่ยวและตลาดไมซ์ในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ดึงกลุ่มบริษัทรายใหญ่กว่า 100 ราย เข้าพบปะเจรจาการค้ากับผู้ประกอบการโรงแรมและท่องเที่ยวกว่า 80 แห่ง โชว์ศักยภาพความพร้อมด้านสถานที่พัก การจัดการประชุมสัมมนาจาก 17 จังหวัดภาคเหนือ ในระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2550
โครงการ MICE in Green: the North มีรูปแบบการดำเนินกิจกรรมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยในส่วนแรก ได้แก่ กิจกรรมส่งเสริมการขาย MICE in Green: the North ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในรูปแบบ Table Top โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในภาคเหนือจาก 17 จังหวัด ประมาณ 80 ราย ได้พบปะกับกลุ่มผู้ซื้อในส่วนขององค์กร (corporate) ประมาณ 100 ราย โดยผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจะนำเสนอสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวรูปแบบต่างๆ อาทิ ที่พักสำหรับผู้บริหาร สถานที่สำหรับการจัดประชุม สัมมนา นิทรรศการ สนามกอล์ฟ สปา บริษัทรับจัดการประชุมสัมมนา บริษัททัวร์ที่ให้บริการแก่ตลาดไมซ์ ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยว และสินค้าทางการท่องเที่ยวอื่นๆ ที่น่าสนใจสำหรับตลาดไมซ์ภายในงาน เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเป็นการชักจูงใจให้เกิดการจัดการประชุม สัมมนาและการท่องเที่ยวในภาคเหนือมากยิ่งขึ้น
สำหรับส่วนที่สองเป็น กิจกรรมสำรวจสิ่งอำนวยความสะดวกในการจัดกิจกรรม MICE ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง และลำพูน ในรูปแบบ Post Tour ประกอบไปด้วยแหล่งท่องเที่ยว ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ที่โดดเด่น น่าสนใจ และเหมาะสมกับธุรกิจไมซ์ เพื่อชักจูงใจให้มีการจัดประชุมสัมมนาในภาคเหนือมากขึ้น โดยแบ่งเส้นทางการเดินทางออกเป็น 3 เส้นทาง โดยเน้นเส้นทางการเยี่ยมชมตามรอยโครงการ “เปิดทองหลังพระ-ท่องเที่ยวสืบสานโครงการพระราชดำริ” ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมีโอกาสสัมผัสแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามไปพร้อมกับเรียนรู้ประสบการณ์ตรงจากการเที่ยวชมโครงการหลวง โครงการพระราชดำริ ได้แก่ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง โครงการหลวงอินทนนท์ โครงการพัฒนาดอยตุง ไร่แม่ฟ้าหลวง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ซึ่งเป็นสถานที่ภายใต้โครงการในภาคเหนือ
ม.ร.ว. ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. กล่าวว่า “ในปัจจุบันตลาดการจัดการประชุมและท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Meeting & Incentive) มีมูลค่าการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยประมาณ 20-25% อย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาคเหนือมีมูลค่ารวมกว่า 1,900 ล้านบาท หรือมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 5% ของธุรกิจในภาคเหนือ สามารถแบ่งกลุ่ม
ผู้ที่เข้ามาใช้บริการเป็นคนไทย 80% ต่างประเทศ 20% โดยแบ่งภาพการเติบโตของตลาดออกเป็น 2 ช่วง คือ
ช่วงไฮซีซั่น อยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน และช่วงโลว์ซีซั่นอยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ทั้งนี้ สสปน. ได้เล็งเห็นโอกาสความเป็นไปได้ในการขยายฐานการเติบโตของธุรกิจในพื้นที่ช่วงโลว์ซีซั่น โดยได้ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) จัดตั้งโครงการ MICE in Green: The North เพื่อเป็นการส่งเสริมและกระตุ้นตลาดการจัดการประชุมและท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล ในภาคเหนือให้มีการกระจายตัวไปตามแหล่งท่องเที่ยวภาคเหนือตลอดทั้งปี ในระหว่างวันที่ 7 — 9 กันยายนนี้
ทั้งนี้ คาดว่าโครงการ MICE in Green: the North นี้ จะเพิ่มการใช้จ่ายและเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ การเพิ่มการสร้างงานและกระจายรายได้ให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้องในภูมิภาค และผลักดันให้ผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจไมซ์ของภูมิภาคมีโอกาสทางธุรกิจในการให้บริการเพิ่มขึ้น “ผลที่ได้รับจากการจัดโครงการนี้ คือ นอกจากจะเป็นเวทีให้เกิดการเจราจาซื้อขายโดยตรงแล้ว ยังเป็นการประชาสัมพันธ์กลุ่ม 17 จังหวัดในภาคเหนือ ให้เป็นที่นิยมและเกิดกระแสการเดินทางมาจัดกิจกรรมด้านไมซ์ในจังหวัดทางภาคเหนือ ซึ่งทำให้ตลาดไมซ์ในประเทศในช่วงฤดูฝนของภาคเหนือคึกคักมากขึ้นด้วย”
นายจำลอง รัตนพันธุ์ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ททท. ได้วางเป้าหมายการท่องเที่ยวตลาดในประเทศในปี 2550 ว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศประมาณ 82 ล้านคน ทำรายได้ประมาณ 377,800 ล้านบาท สำหรับความพร้อมของภาคเหนือในการเสนอขายกลุ่มตลาด MICE นั้น พบว่ามีศักยภาพที่แข็งแกร่งในเรื่องของสถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วน โดยภาคเหนือตอนบน มีศักยภาพในการรองรับการจัดการประชุมสัมมนา และมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจเหมาะสมกับการจัด Incentives มีความโดดเด่นด้านวัฒนธรรม และระบบโทรคมนาคมที่สะดวกสบาย ส่วนภาคเหนือตอนล่าง มีความโดดเด่นในเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ผจญภัย และประวัติศาสตร์ สามารถจัดกิจกรรม Team Building หรือ Theme Party ทั้งยังสามารถจัด Incentives ได้อีกด้วย ในปี 2551 ภาคเหนือจะมีโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายโครงการ อาทิ โครงการส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวทางรถยนต์, โครงการ ฟลาย แอนด์ ไดรฟ์ (Fly & Drive), โครงการบัตรเดียวเที่ยวเมืองเหนือ และโครงการเยาวชนท่องเที่ยว ห้องเรียนสีเขียว เป็นต้น ซึ่ง ททท. คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวคนไทยเพิ่มขึ้นจากปี 2550 ประมาณ 1.23% หรือประมาณ 83 ล้านคน และทำรายได้ให้ตลาดในประเทศประมาณ 385,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.90% สำหรับการดำเนินกิจกรรมทางการตลาดเพื่อส่งเสริมกลุ่มตลาด MICE อย่างต่อเนื่องในปีถัดไปนั้น ททท. จะเผยแพร่ข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกในภาคเหนือที่สามารถรองรับการจัดกิจกรรม MICE ในหลายรูปแบบผ่าน MICE Directory เพื่อเป็นข้อมูลที่สามารถกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจและเดินทางเข้ามาจัดกิจกรรม MICE ในพื้นที่ภาคเหนือต่อไป
นางเยาวลักษณ์ แพ่งสภา รองประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวถึงบทบาทในการกระตุ้นผู้ประกอบการโรงแรมและสถานที่ท่องเที่ยวในภาคเหนือว่า “ทางสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ ได้เร่งดำเนินการประสานงานเพื่อเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสถานที่ท่องเที่ยว และเป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน โดยจัดโครงการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการตั้งแต่ธุรกิจระดับเล็กไปจนถึงระดับใหญ่ อาทิ การประชุมสัมมนาให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยว ผู้บริหารระดับสูง และผู้เกี่ยวข้องให้ได้มีความรู้ในด้านการบูรณาการการท่องเที่ยวและการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพ โครงการส่งเสริมการนำเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของแต่ละกลุ่มพื้นที่ อาทิ ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี สถานที่ท่องเที่ยว โบราณสถาน และสิ่งแวดล้อม มาจัดทำเป็นตราสัญลักษณ์ของกลุ่มพื้นที่ เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำการตลาดอย่างมีรูปธรรมมากยิ่งขึ้น และการนำเสนอแผนการเพื่อกระตุ้นและชักจูงใจเพื่อให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น ทั้งนี้แนวโน้มศักยภาพของกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจด้านโรงแรม และสถานที่ท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจด้านโรงแรมในจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย มีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่รูปแบบที่เป็นสากล ทั้งด้านการบริหารและการบริการที่ยกระดับมาตรฐานสูงขึ้น ตลอดจนมีการปรับรูปแบบการขยายประเภทลักษณะที่พักที่มีความโดดเด่นทันสมัยน่าสนใจในรูปแบบบูติคโฮเต็ล (Boutique Hotel) รูปแบบฮิปโฮเต็ล (HIP Hotel) และรูปแบบหรูหรา (Luxury) เป็นต้น”
นายโอภาส เนตรอำไพ อุปนายกสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) หรือ ทิก้า กล่าวถึงด้านความพร้อมของสถานที่ในการจัดการประชุมและนิทรรศการ ว่า “ทางสมาคมฯได้เข้ามามีบทบาทสนับสนุนในด้านการดูแลการจัดสร้างกิจกรรมของตลาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและไมซ์ในระดับประเทศ (Domestic) เพื่อกระตุ้นตลาดไมซ์ในประเทศให้เติบโตและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และผลักดันตลาดอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากลมากขึ้น โดยเน้นการสร้างแรงจูงใจด้วยการจัดโปรโมชั่น โปรแกรมพิเศษ นำเสนอแก่องค์กรของรัฐบาล เอกชน และรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มองค์การบริหารส่วนจังหวัด และกลุ่มองค์การบริหารส่วนตำบลที่จัดการประชุมและสัมมนา ให้หันมาจัดประชุมและสัมมนาฯ ในประเทศให้มากขึ้น ส่วนด้านตลาดต่างประเทศจะมุ่งเน้นจัดกิจกรรมหรือโปรโมชั่นส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของตลาดต่างประเทศให้มาท่องเที่ยว และใช้สถานที่ในการจัดการประชุมและอินเซนทีฟ ผ่านระบบศูนย์ข้อมูลและบริการให้คำปรึกษาที่จะจัดทำขึ้น
ปัจจุบัน ทางภาคเหนือได้เตรียมแผนงานเตรียมความพร้อมของสถานที่ในการจัดการประชุมและนิทรรศการเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดการท่องเที่ยว อาทิ โครงการศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศของอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง, โครงการการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่ และโครงการศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ 2 โครงการ Empress Convention Centre (ECC) และ North — Chiang Mai Convention Centre (NCCC) ซึ่งมีเอกชนเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง การเปิดให้บริการของโรงแรมระดับ 5 ดาวนานาชาติ จำนวน 9 แห่ง รวมจำนวนห้องพักกว่า 1,658 ห้อง เป็นต้น”
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม:-
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.)
คุณปาริฉัตร เศวตเศรนี
โทร 0-2694-6000 Ext. 6091 หรือ 08-1840-4701
อีเมลล์: parichat_s@tceb.or.th
คุณอริสรา ธนูแผลง
โทร 0-2694-6000 ต่อ 6092 หรือ 08-1561-4745
อีเมลล์ : arisara_t@tceb.or.th
เจดับบลิวที ประเทศไทย: เจดับบลิวที พับบลิค รีเลชั่นส์
คุณวงจันทร์ ตั้งทรงศักดิ์
โทร. 0-2204-8221 หรือ 08-9127-2089
อีเมลล์: wongchan.tangsongsak@jwt.com
คุณประสิทธิ์ กฤษฎาอริยชน (บ๊อบ)
โทร. 02-204-8216 หรือ 081-586-2813
อีเมลล์: prasit.krisadaariyachon@jwt.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ