กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--IR PLUS
JMART ชี้ผลงาน Q1/61 เป็นไตรมาสที่ต่ำที่สุดของปีแล้ว รับธุรกิจปล่อยสินเชื่อของบริษัทย่อยตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ แต่ปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน สนับสนุนภาพรวมธุรกิจในปีนี้มีทิศทางที่ดีขึ้น ชี้ปัญหาการตั้งสำรองจบ เชื่อทั้งปีจะคืนฟอร์มสวย พลิกกลับมาเป็นกำไรได้ "อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา" แม่ทัพใหญ่ ประเมินสถานการณ์ภาพรวมทั้งกลุ่ม ธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพของ JMT มีศักยภาพในการเติบโตโดดเด่นสุด สร้างกำไรได้อลังการ ธุรกิจจัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่มียอดขายทรงตัวเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ด้านธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยังคงเติบโตได้ด้วยธุรกิจใหม่ ขณะที่ SINGER จะเริ่มกลับมาดีขึ้นหลังควบคุมการปล่อยสินเชื่ออย่างเคร่งครัด และการปรับโมเดลการทำธุรกิจให้คล่องตัวมากขึ้น ย้ำถ้าทุกธุรกิจกลับมาตั้งทรงได้เจมาร์ทจะเติบโตได้ตามเป้าหมาย
นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) (JMART) เปิดเผยถึงรายได้รวมของบริษัทในไตรมาส 1/2561 อยู่ที่ 3,112.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 158.9 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 มีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารรวมเท่ากับ 755 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 44 และค่าตอบแทนพนักงานที่เพิ่มขึ้นจากการขยายธุรกิจ สำหรับกำไรจากการดำเนินงาน ในไตรมาส 1/2561 เท่ากับ 23.7 ล้านบาท ปรับลดลง 198.88 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 89.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลจากค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจากลูกหนี้สินเชื่อในบริษัทย่อย ส่งผลให้บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิที่ 187.3 ล้านบาท
สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งประกอบด้วยสายธุรกิจจัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่มีรายได้ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังคงเป็นรายได้หลักของบริษัทฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 76.5 ของรายได้รวม สายธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 และสายธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีรายได้ค่าเช่าและบริการลดลงร้อยละ 8.5 อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของบริษัทฯ โดยรวมได้รับผลกระทบหลักจากธุรกิจของบริษัท เจ ฟินเทค จำกัด บริษัทย่อยที่ ดำเนินธุรกิจทางด้านการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งมีผลขาดทุนจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญตามนโยบายบัญชีของบริษัทฯ
"ครึ่งปีหลังธุรกิจจะกลับมาดีอีกครั้ง ภายหลังปัญหาการตั้งสำรองของ เจ ฟินเทค ได้รับการแก้ปัญหา ส่งผลให้ภาพรวมทั้งกลุ่ม โดยมี ธุรกิจจัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งเป็นรายได้หลักคาดว่าในปี 2561 จะยังเติบโตได้ ขณะที่ JMT ซึ่งธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพยังโดดเด่นและเป็นหลักในการสร้างกำไรให้กับบริษัทฯ ส่วน J ยังเติบโตจากรายได้ค่าเช่าพื้นที่และรายได้อื่นๆ อีก ในส่วนของ SINGER จะเริ่มกลับมาดีขึ้นหลังควบคุมการปล่อยสินเชื่ออย่างเคร่งครัด ควบคู่การติดตามประนอมหนี้ และการปรับเปลี่ยนระบบเก็บเงิน" นายอดิศักดิ์กล่าว
นายกิติพัฒน์ ชลวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ ฟินเทค จำกัด (J Fintech) บริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจทางด้านการปล่อยสินเชื่อ ภายใต้แบรนด์ "J Money" ในไตรมาส 1/2561 ที่ผ่านมามีผลประกอบการที่ขาดทุน ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญจากลูกหนี้ โดยบริษัทฯ ได้แก้ปัญหาและวางมาตรการในการคัดกรองลูกค้า โดยเน้นไปที่ลูกค้าที่มีรายได้สูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาในไตรมาสที่1/2561 บริษัทฯ ได้เริ่มดำเนินการแล้ว เห็นได้จากค่าเฉลี่ยของสินเชื่อส่วนบุคคลในแต่ละเดือนของไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีวงเงินสินเชื่อเฉลี่ยต่อราย ณ สิ้นไตรมาสที่ 1/2561 เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2560 ร้อยละ 65.5 หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30,423 บาท และมีประสิทธิภาพในการจัดเก็บหนี้ที่ดีขึ้น โดยอัตราการจัดเก็บหนี้ จัดชั้นปกติ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 ปรับสูงขึ้นอยู่ที่ระดับร้อยละ 97.2 คุณภาพของลูกหนี้ก็ดีขึ้น และมีความสามารถในการชำระหนี้ดีขึ้น ทำให้แนวโน้ม NPL ของบริษัทฯ ลดลง โดยปัจจุบันอยู่ที่ 5.21% และ เจ ฟินเทค มีรายได้จากดอกเบี้ยปรับสูงขึ้นมาก โดยในไตรมาสที่ 1/2561 อยู่ที่ 180 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 64 สะท้อนพอร์ตสินเชื่อของบริษัทฯ มีขนาดใหญ่และมีรายได้ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนขยายช่องทางการเข้าถึงลูกค้า และเพิ่มธุรกิจใหม่ เช่น สินเชื่อฟลอร์แพลน รวมถึงจะมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบอื่นเพิ่มเติมอีกในไตรมาสที่ 2/2561 เพื่อความครบถ้วนของบริการสินเชื่อทั้งสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ เพื่อรองรับกับการแข่งขันในตลาด
นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (JVC) ประกอบธุรกิจพัฒนาซอฟท์แวร์ และลงทุนในบริษัท Started-up ซึ่ง เป็นบริษัทย่อยที่จะเข้ามาพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน(Fintech) ให้ธุรกิจของบริษัทในกลุ่ม ได้กล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาระบบ Decentralized Digital Lending Platform ว่าภายในไตรมาส 4/2561 ของปีนี้บริษัทจะเปิดตัว Digital Lending Platform "ป๋า" รุกตลาดสินเชื่อดิจิทัลที่ไม่ซื้อแบบใคร และเปิดตัวผลิตภัณฑ์ "fastmoney" เงินหมุนด่วนอนุมัติเร็ว สร้างกระแสความแปลกใหม่ให้กับสินเชื่อดิจิทัลในประเทศไทย
นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) (JMT) ผู้นำในธุรกิจติดตามหนี้ และบริหารหนี้ด้อยคุณภาพอันดับ 1 ของประเทศไทย เปิดเผยว่า รายได้รวมของบริษัทฯ ในไตรมาส 1/2561 เท่ากับ 400.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/2560 ร้อยละ 47.1 โดยมีสาเหตุหลักมาจาก รายได้จากการเรียกเก็บหนี้สินจากลูกหนี้ที่รับซื้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 63 จากความสามารถในการจัดเก็บ ลูกหนี้ได้มากขึ้น โดยในไตรมาสที่ 1/2561 บริษัทฯ มียอดจัดเก็บ (Cash Collection) สูงถึง 514 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จากไตรมาสที่1/2560 ร้อยละ 59.1 ส่วนกำไรสุทธิ อยู่ที่ 116.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 58.4 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2560 ร้อยละ 17 เนื่องจาก ประสิทธิภาพในการจัดเก็บหนี้ด้อยคุณภาพที่ดีขึ้น และการบริหารต้นทุนได้ดี
ในไตรมาส 1/2561 บริษัทฯ ได้ใช้เงินลงทุนซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารจากสถาบันการเงินแล้ว 1,017 ล้านบาท และมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน ณ สิ้นไตรมาสเท่ากับ 0.96 เท่า สะท้อนความสามารถในการซื้อหนี้จากสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนให้ JMT มีพอร์ตบริหารหนี้รวมกัน ณ สิ้นมีนาคม 2561 อยู่ที่ 128,525 ล้านบาท จากสิ้นปี 2560 มีพอร์ตบริหารหนี้รวมกันอยู่ที่ 124,554 ล้านบาท พร้อมทั้ง เปิดตัวโมบายแอพพลิเคชั่นตามหนี้ "Jaii Dee" นำกระแสฟินเทคก่อนคู่แข่งในธุรกิจติดตามหนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมั่นใจผลประกอบการปี 2561 จะทำนิวไฮต่อเนื่องทั้งรายได้และกำไร ตั้งเป้าผลงานปีนี้โตอีกไม่ต่ำกว่า 30% จากปีก่อน
นอกจากนี้ ภายหลังจากการที่บริษัทฯ ลงทุน ในบริษัท เจพี ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทย่อยที่ JMT ถือหุ้นร้อยละ 55 สนับสนุนภาพรวมธุรกิจประกันของบริษัทฯ ให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น พร้อมจะก้าวสู่การเป็นบริษัทประกันภัยชั้นนำของอุตสาหกรรม โดยจะใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างกลุ่มบริษัท ภายใต้กลยุทธ์ Synergy และแผนการรับประกันภัย InsurTech ซึ่งจะใช้เทคโนโลยี และฐานข้อมูลลูกค้าในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตและมีผลตอบแทนที่ดีต่อผู้ถือหุ้น พร้อมทั้ง เตรียมจัดทำงบการเงินรวมในงบกำไรขาดทุนของบริษัทย่อยดังกล่าว ซึ่งจะเริ่มมีผลในไตรมาสที่ 2/2561 นี้
นายสุพจน์ วรรณา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) (J) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ประจำไตรมาส 1/2561 มีกำไรอยู่ที่ 0.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุน 4 ล้านบาท จากการมุ่งเน้นการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มอัตรากำไรให้ธุรกิจ ทั้งในส่วนที่เป็นธุรกิจหลักของบริษัทฯ และรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการ Synergy ในด้านการดำเนินธุรกิจร่วมกับบริษัทในกลุ่มเจมาร์ท
โดยบริษัทฯ มีรายได้ค่าเช่าและบริการอยู่ที่ 163.7 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8.1 เนื่องจากการปิดสาขาของ IT Junction ที่มีผลประกอบการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งนี้ บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและบริการเท่ากับ 178.2 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทฯ มีรายได้อื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายได้ส่งเสริมการขายเท่ากับ 17.2 ล้านบาท มีกำไรขั้นต้น 29.7 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 30 เนื่องจาก รายได้จากค่าเช่าและค่าบริการพื้นที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ในอนาคตรายได้จากธุรกิจขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นธุรกิจที่ร่วมกัน Synergy กับบริษัทในกลุ่มเจมาร์ท จะเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงรายได้จากร้านกาแฟ CASA Lapin และ Rabb Coffee ที่วางแผนจะเปิดอีก 250 สาขาภายใน 3 ปีนับจากนี้
นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) (SINGER) เปิดเผยถึง ผลประกอบการไตรมาส 1/2561 บริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิ 184.5 ล้านบาท เปรียบเทียบกับปีก่อนที่มีขาดทุนสุทธิ 20 ล้านบาท ส่วนรายได้ทั้งหมดของบริษัทฯ อยู่ที่ 580.2 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.3 สาเหตุหลักมาจากการควบคุมการปล่อยสินเชื่อให้เข้มงวดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ปรับกระบวนการในการดำเนินธุรกิจให้เหมาะสมมากขึ้น แบบ "Farmer Model" โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาในกระบวนการทำงานของบริษัทมากขึ้น ซึ่งจะเริ่มส่งผลต่อผลการดำเนินงานอย่างชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 2 นี้ เป็นต้นไป นอกจากนี้ ในด้านการขายสินค้าหลักของบริษัทมีการปรับตัวของมาร์จิ้นที่ดีขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ยังคงตั้งเป้าหมายให้บริษัทกลับมามีกำไรในปี 2561 ให้ได้ตามแผน