กพช. อนุมัติให้ไทยขยายการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว จาก 5,000 เมกะวัตต์ เป็น 7,000 เมกะวัตต์

ข่าวทั่วไป Friday October 19, 2007 13:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--กระทรวงพลังงาน
กพช. อนุมัติให้ไทยขยายการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว จาก 5,000 เมกะวัตต์ เป็น 7,000 เมกะวัตต์ และอนุมัติร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการใน สปป.ลาว อีก 4 โครงการ นอกจากนี้อนุมัติการจัดตั้งบริษัท กฟผ.อินเตอร์ฯ การอนุมัติแผนแม่บทการนำสายไฟฟ้า ลงใต้ดินของ กฟน. และเห็นชอบร่างแผนจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) (ครั้งที่ 7/2550) วันที่ 18 ตุลาคม 2550 ซึ่งมี นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอที่กระทรวงพลังงานนำเสนอ 5 วาระ ดังนี้
1. การอนุมัติขยายปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว จาก 5,000 เมกะวัตต์ เป็น 7,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2558 โดยให้มีการนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป ทั้งนี้ การเพิ่มปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว นับเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองประเทศ โดยเมื่อพิจารณาศักยภาพแหล่งผลิตไฟฟ้าใน สปป.ลาว ยังมีแหล่งไฟฟ้าพลังน้ำที่จะขายให้กับประเทศไทยได้อีกจำนวนมาก นอกจากนี้จะเป็นทางเลือกสำหรับการจัดหาพลังงานไฟฟ้าของประเทศในอนาคตและมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ต่ำ
2. การอนุมัติร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการใน สปป.ลาว 4 โครงการ ได้แก่ โครงการ น้ำเทิน 1 โครงการน้ำงึม 3 โครงการน้ำเงี้ยบ และโครงการเทิน-หินบุน ส่วนขยาย และมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการตามขั้นตอนให้มีการลงนามสัญญาซื้อขาย ไฟฟ้าต่อไป ซึ่งทั้ง 4 โครงการจะมีค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดอายุโครงการอยู่ที่ระดับ 1.94 บาทต่อหน่วย 1.97 บาทต่อหน่วย 1.95 บาทต่อหน่วย และ 1.89 บาทต่อหน่วย ตามลำดับ
ทั้งนี้ การอนุมัติร่างสัญญา สปป.ลาว อีก 4 โครงการ จะทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีการ ตกลงรับซื้อไฟฟ้ากับ สปป.ลาว จำนวน 8 โครงการ กำลังผลิตรวม 3,314 เมกะวัตต์ และอยู่ในระหว่างการเจรจาอัตราค่าไฟฟ้ากับโครงการหงสาลิกไนต์ อีกกำลังผลิตประมาณ 1,470 เมกะวัตต์ หากเจรจาตกลงกันได้จะทำให้กำลังผลิตรวมเป็น 4,784 เมกะวัตต์ ที่จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบให้ไทย
3. การอนุมัติการจัดตั้งบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (Egat International Company Limited) โดยจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด มีทุนจดทะเบียนขั้นต้น 50 ล้านบาท โดย วัตถุประสงค์การจัดตั้งเพื่อเป็นตัวแทน กฟผ. ในการลงทุนโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับกิจการของ กฟผ. ในต่างประเทศ โดยสามารถลงทุนและ ร่วมทุนในต่างประเทศได้ ซึ่งแต่ละโครงการจะต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงพลังงาน หรือหากเป็นโครงการที่มีประเด็นนโยบายเป็นพิเศษจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก กพช.
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ บริษัท กฟผ.อินเตอร์ฯ ยังคงมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจจะต้องปฏิบัติตามคำสั่ง กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่ใช้บังคับกับรัฐวิสาหกิจทั่วไป เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
4. การอนุมัติแผนแม่บทโครงการเปลี่ยนระบบสายอากาศเป็นสายใต้ดินในปี 2551-2565ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นผู้พิจารณาวงเงินลงทุนรวม 77,678 ล้านบาท และกระทรวงการคลังเป็น ผู้พิจารณาการจัดหาแหล่งเงินกู้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ และให้สามารถดำเนินโครงการได้ มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) รับไปพิจารณาในรายละเอียดเกี่ยวกับฐานะการเงินของการไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง แนวทางการชดเชยรายได้และระดับอัตราค่าไฟฟ้าในรายละเอียดเพื่อนำเสนอ กพช. ต่อไป
สำหรับพื้นที่เป้าหมาย จะประกอบด้วย ถนนในพื้นที่วงแหวนชั้นใน ถนนลาดพร้าว ถนนรามคำแหง ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ถนนทองหล่อ และถนนเอกมัย ซึ่งเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญและมีความต้องการใช้ไฟฟ้าหนาแน่น รวมประมาณ 180 กิโลเมตร แบ่งเป็นระยะที่ 1 ปี 2551-2564 ระยะทางประมาณ 119 กิโลเมตร และระยะที่ 2 ปี 2555-2565 ระยะทางประมาณ 61 กิโลเมตร
โดยประโยชน์ของโครงการดังกล่าว จะช่วยรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของ ประชาชนในเขตกรุงเทพฯ การช่วยให้สภาพภูมิทัศน์ สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยในชีวิต และ ทรัพย์สินของประชาชนดียิ่งขึ้น
5. การอนุมัติร่างแผนจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ ในช่วง 13 ปีข้างหน้า (2551-2564) โดยให้มีการจัดตั้งสำนักงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (NPPDO) ขึ้นเป็นหน่วยงานในกระทรวงพลังงาน โดยแผนช่วง 3 ปีแรก (2551-2553) จะเป็นการศึกษาและวางแผนโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ด้านเทคนิคโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ศึกษาความเหมาะสม การคัดเลือกสถานที่ตั้ง การประมาณการค่าใช้จ่าย ฯลฯ นอกจากนั้นจะมีการยกร่างกฎหมายเฉพาะในการกำกับดูแล มาตรฐาน และความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ ซึ่งจะยกร่างแล้วเสร็จภายในปีที่ 3 ซึ่งหากประเทศหรือรัฐบาลชุดใหม่จะตัดสินใจให้ดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็จะมีการเสนอร่างกฎหมายตามขั้นตอนทางนิติบัญญัติเพื่อให้มีการบังคับใช้ ต่อไป และจะสามารถเดินหน้าการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่อไปได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ