กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--ไอบีเอ็ม
ช่วยให้บริษัทสามารถทดสอบกลยุทธ์การบริหารจัดการเมื่อเกิดกรณีวิกฤติก่อนการแพร่ระบาดจริง
ไอบีเอ็มนำเสนอบริการใหม่ที่จะช่วยให้ลูกค้าสามารถจำลองผลกระทบต่อองค์กรในเชิงเศรษฐกิจและสังคมเมื่อมีโรคระบาดครั้งใหญ่ และช่วยให้ธุรกิจสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้
ธนาคารโลก (World Bank) ได้ประมาณการว่าการเกิดไข้หวัดใหญ่แพร่ระบาดทั่วโลก ทำให้เกิดความเสียหายคิดเป็น 2 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ทั่วโลกในหนึ่งปี หรือประมาณ 800,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำนักงบประมาณของรัฐสภาสหรัฐฯ (US Congressional Budget Office) ยังประมาณการว่าการเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ทำให้เกิดความเสียหายคิดเป็น 1.5 เปอร์เซ็นต์ของ GDP รายปีของสหรัฐฯ ภายใต้สถานการณ์ระดับปานกลาง และ 5 เปอร์เซ็นต์ภายใต้สถานการณ์ระดับเลวร้ายที่สุด อย่างไรก็ตาม ค่าตัวเลขเหล่านี้อาจทำให้ “ผลกระทบต่อเครือข่าย” (network effects) ดูร้ายแรงน้อยกว่าที่เป็นจริง ซึ่งผลกระทบต่อเครือข่ายในที่นี้หมายถึงผลกระทบต่อธุรกิจที่ทำให้ระบบซัพพลายเชน เครือข่ายการกระจายสินค้า โครงสร้างพื้นฐานทางการสื่อสาร และอาจรวมไปถึงการเงินต้องหยุดชะงัก
บริการ Pandemic Business Impact Modeler (PBIM) ได้รับการพัฒนาจากทีมวิจัยของไอบีเอ็ม และนำไปใช้โดยทีมที่ปรึกษาธุรกิจทั่วโลกของไอบีเอ็ม บริการนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยผู้ใช้สามารถจำลองผลกระทบที่อาจมีต่อการดำเนินธุรกิจเมื่อเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ โดยใช้โมเดลแสดงการเชื่อมโยงระหว่างกันของโรคและธุรกิจ บริการนี้ยังช่วยเตรียมความพร้อมก่อนการเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ โดยบริษัทจะสามารถจำลองสถานการณ์หลายๆ รูปแบบ เพื่อพัฒนาและทดสอบแผนบริหารจัดการเมื่อเกิดกรณีวิกฤติในปัจจุบันและอนาคต
ตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตรายหนึ่งอาจมีเครือข่ายซัพพลายเชนทั่วโลก ซึ่งประกอบด้วยผู้จัดหาวัตถุดิบ (suppliers) ที่มีหน้าที่จัดหาวัตถุดิบให้กับโรงงานในที่ต่างๆ แล้วโรงงานจะผลิต ประกอบ และจัดส่งสินค้าสำเร็จรูปไปให้ลูกค้าทั่วโลก หรือบริษัทผู้ให้บริการทางการเงินแห่งหนึ่งอาจมีเครือข่ายสำนักงานสาขาและตัวแทนบริการทั่วโลก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ประมวลผลข้อมูลและศูนย์บริการทั่วโลก ทั้งนี้ บริการ PBIM จะรองรับการจำลองบริเวณที่เริ่มต้นการเกิดโรคระบาด และความรวดเร็วในการแพร่ระบาด โมเดลนี้จะช่วยให้บริษัทสามารถทำความเข้าใจกับผลกระทบทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นได้ดีขึ้น และทราบว่าการแพร่ระบาดนั้นจะมีผลต่อระบบซัพพลายเชนของบริษัทหรือไม่ รวมทั้งยังช่วยให้บริษัทมองเห็นภาพได้ล่วงหน้าว่ากลยุทธ์การบริหารจัดการวิกฤติการณ์นั้นจะทำงานได้ผลอย่างไรบ้าง
“โรคระบาดอาจเป็นหนึ่งในความท้าทายอย่างที่สุดต่อภาวะชะงักงันทางธุรกิจ เนื่องจากสามารถแพร่กระจายไปได้ทั่วโลกและมีโอกาสเกิดเป็นช่วงเวลานาน ด้วยกระแสการทำธุรกิจแบบโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน บริษัทต่างๆ จึงต้องพึ่งพิงทรัพยากรและตลาดทั่วโลก นั่นหมายความว่าการเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ย่อมส่งผลกระทบที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น” แชนเกอร์ รามาเมอร์ตี้ หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาทางการตลาด การเงินและการธนาคารของไอบีเอ็ม กล่าว “บริการ PBIM เป็นเครื่องมือการวางแผนเชิงกลยุทธ์ที่ใช้เพื่อทดสอบสถานการณ์การเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ ช่วยให้องค์กรสามารถประเมินกลยุทธ์การตอบสนองที่แตกต่างกันได้ล่วงหน้า”
บริการ PBIM จะเชื่อมโยงปรากฏการณ์ทางระบาดวิทยา (epidemiological phenomena) กับผลกระทบต่อธุรกิจผ่านทางโมดูลแบบจำลองดังต่อไปนี้
ระบาดวิทยา — ใช้ “เครื่องมือ” (engine) ทางระบาดวิทยาที่แตกต่างกันหลายรูปแบบ และใช้เทคนิคการสร้างโมเดลเชิงคณิตศาสตร์ขั้นสูง ซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อจำลองการแพร่กระจายและความรุนแรงของโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ในพื้นที่หนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง ตามข้อมูลที่ป้อนให้กับโมดูล เครื่องมือนี้อาจใช้สลับแทนกันได้โดยเป็นส่วนหนึ่งในโมดูลนี้
ตัวอย่างหนึ่งของการสร้างโมเดลเชิงระบาดวิทยาก็คือ โมเดล SEIR ซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อคำนวณสัดส่วนของประชากร ตั้งแต่ระยะอ่อนแอต่อโรค (Susceptible) ระยะสัมผัสโรค (Exposed) ระยะติดเชื้อ (Infections) และระยะฟื้นตัว (Recovered) ตลอดช่วงเวลาหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีโมเดล SEIR อีกรูปแบบหนึ่ง นั่นคือ Spatio-Temporal Epidemiological Modeler (STEM) ซึ่งเป็นกรอบการสร้างโมเดลที่แสดงพัฒนาการในเชิงพื้นที่และเชิงระยะเวลาที่โรคส่งผลกระทบต่อประชากรจำนวนมากในพื้นที่ภูมิศาสตร์ต่างๆ
โปรแกรมเหล่านี้สามารถจำลองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้หลากหลายแบบ ตัวอย่างเช่น ในโมเดลของลูกค้ารายหนึ่ง มีการจำลองสถานการณ์สำหรับเครือข่ายทั่วโลกแยกตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ 8,000 แห่ง สนามบิน 3,600 แห่ง และระบบคมนาคมที่เชื่อมโยงระหว่างกัน เพื่ออธิบายโอกาสการแพร่กระจายของโรคและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ในช่วงเวลาหนึ่งๆ
โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) — ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ต่อระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินงานประจำวันของธุรกิจส่วนใหญ่ เช่น ไฟฟ้า การคมนาคมขนส่งทางอากาศและภาคพื้นดิน ประปา และอินเทอร์เน็ต โมดูลนี้ใช้โมเดลที่ผันแปรไปตามระบบ (system dynamic model) ซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อนำเสนอความสัมพันธ์ทางด้านเหตุและผลระหว่างการแพร่กระจายของโรคและความพร้อมใช้งานของระบบสาธารณูปโภคในแต่ละพื้นที่ โดยจะนำเสนอเป็นค่าตัวเลข
เศรษฐกิจ (Economic) — ช่วยประเมินผลกระทบจากการเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ที่มีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ โมดูลนี้ใช้โมเดลที่ผันแปรไปตามระบบ (system dynamic model) ซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อนำเสนอความสัมพันธ์ทางด้านเหตุและผลระหว่างการแพร่กระจายของโรคและภาวะเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ โดยจะนำเสนอเป็นค่าตัวเลข ด้วยการผสมผสานข้อมูลที่ได้รับจากโมดูลระบาดวิทยาและโมดูลโครงสร้างพื้นฐาน โมดูลนี้จะช่วยคาดการณ์เปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของการบริโภคสินค้า/บริการในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เมื่อเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่
พฤติกรรม (Behavioral) — ถูกออกแบบมาเพื่อจำลองปฏิกิริยาเชิงจิตวิทยา สังคม และองค์กรที่อาจเกิดขึ้นต่อการเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ โมดูลนี้จะนำเสนอภาพความสัมพันธ์ทางด้านเหตุและผลระหว่างความคืบหน้าของการแพร่ระบาดและจำนวนพนักงานที่สามารถทำงานได้ โมดูลพฤติกรรมจะใช้ข้อมูลจากโมดูลระบาดวิทยาและโมดูลโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายลดความเสี่ยงที่บริษัทประกาศใช้ เช่น การให้วัคซีน หรือการแจกจ่ายผ้าปิดจมูกและปาก โมดูลนี้ยังสร้างข้อมูลประมาณการตามระยะเวลา แสดงเปอร์เซ็นต์พนักงานที่สามารถทำงานจากที่บ้านและจากที่ทำงานสำหรับสาขาแต่ละแห่งอีกด้วย
ซัพพลายเชน (Supply Chain) — มุ่งเน้นผลกระทบที่การเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่มีต่ออุปสงค์และอุปทาน โมดูลซัพพลายเชนสามารถคาดการณ์ผลกระทบที่การเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่มีต่อความต้องการสินค้าและบริการ รวมถึงปริมาณทรัพยากรที่พร้อมใช้งาน โดยอ้างอิงข้อมูลที่ได้จากโมดูลอื่นๆ และทำเลที่ตั้งของลูกค้า โมดูลนี้ยังช่วยวิเคราะห์ความสามารถของบริษัทในการส่งมอบสินค้าและบริการ และช่วยค้นหาจุดอ่อนในระบบซัพพลายเชนอีกด้วย
การเงิน (Financial) — ช่วยคำนวณรายได้ที่อาจได้รับและค่าใช้จ่ายในการลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นตลอดช่วงระยะเวลาของการวางแผน ผลที่ได้จากโมดูลนี้จะช่วยในการวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อรายได้ แม้ว่าจะไม่มีการดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยง ผู้ใช้ก็ยังสามารถใช้ผลลัพธ์นี้เพื่อประมาณการรายได้ที่จะได้รับภายใต้สถานการณ์การเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ที่แตกต่างกัน
ทีมที่ปรึกษาในกลุ่มบริการธุรกิจทั่วโลกของไอบีเอ็ม จะทำหน้าที่จัดหาบริการ PBIM นี้ให้แก่ลูกค้า โดยจะทำงานร่วมกับลูกค้าอย่างใกล้ชิดเพื่อรวบรวมข้อมูลบริษัทที่เกี่ยวข้อง แล้วนำข้อมูลดังกล่าวไปรันบนระบบคอมพิวเตอร์ของไอบีเอ็ม เพื่อสร้างโมเดลจำลองสถานการณ์ บริการ PBIM ช่วยให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงทักษะการวิเคราะห์ขั้นสูงของทีมวิจัยของไอบีเอ็ม พร้อมทั้งได้รับประโยชน์จากความเชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาของไอบีเอ็มในการบริหารจัดการเมื่อเกิดกรณีวิกฤติและการช่วยให้ธุรกิจฟื้นตัวจากกรณีวิกฤติได้อย่างรวดเร็ว บริการนี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างล่าสุดที่แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์ในห้องทดลองของไอบีเอ็มจะกลายเป็นบริการแห่งอนาคตของไอบีเอ็มได้อย่างไร
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
แผนกประชาสัมพันธ์ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
คุณกุลวดี โอฬารพันธุ์สกุล โทรศัพท์: 0-2273-4013 อีเมล์: kulwade@th.ibm.com