กรุงเทพฯ--18 พ.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานประชุมแนวทางการดำเนินงานโครงการงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 โดยมีผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมและประชุมผ่านระบบ VDO Conference ไปยังวัฒนธรรมจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ ณ ห้องประชุม ชั้น 6 กระทรวงวัฒนธรรม เมื่อเร็วๆนี้
นายกฤษศญพงษ์ กล่าวว่า จากการที่กระทรวงวัฒนธรรม ( วธ.) ได้รับอนุมัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ประมาณ 68 ล้านบาท แบ่งเป็นสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (สป.) ประมาณ 15.7 ล้านบาท ดำเนินโครงการส่งเสริมชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน กรมศิลปากร ประมาณ 6.5 ล้านบาท และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ประมาณ 45.8 ล้านบาท ดำเนินโครงการวัฒนธรรมสู่การท่องเที่ยวต้นไม้ใหญ่ รุกข มรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี และโครงการเที่ยวงานวัด 55 เมืองรอง บ้านเรา ทั้งนี้งานในส่วนของ สป.และสวธ. เป็นงานที่มอบหมายให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเป็นผู้ดำเนินงานตั้งแต่ พฤษภาคม – กันยายน 2561โดยจะมีคณะกรรมการคอยติดตามการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด จึงขอให้ทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดที่ได้รับมอบหมายเร่งดำเนินงานอย่างเต็มที่
ปลัด วธ. กล่าวว่า สำหรับการดำเนินโครงการส่งเสริมชุมชนคุณธรรมฯ ของ สป. นั้นได้กำหนดเป้าหมายครอบคลุมทั้งหมด 701 ชุมชนทั่วประเทศ จากเดิมที่ประชาชนดำเนินชีวิตโดยยึดมั่นในหลักศาสนา น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และดำรงชีวิตตามแบบวิถีวัฒนธรรมไทย มาพัฒนาต่อยอดเพิ่มศักยภาพสร้างสรรค์กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมตามความสนใจของนักท่องเที่ยว พัฒนาความร่วมมือของคนในชุมชนทุกระดับในการนำมิติทางวัฒนธรรมมาใช้ในการต้อนรับนักท่องเที่ยว นำทุนทางวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้สู่ชุมชน อาทิ อบรมการเป็นเจ้าบ้านที่ดี จัดกิจกรรมจิตอาสาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชนคุณธรรมฯ หลายชุมชนมีความภาคภูมิใจในสิ่งดีงาม อัตลักษณ์ของชุมชน ทุกคนในชุมชนเป็นเจ้าบ้านที่ดี
"สป.ได้ตั้งเป้าความสำเร็จว่าจะต้องมีผู้นำชุมชน เด็ก เยาวชน ประชาชนมีความรู้เป็นเจ้าบ้านที่ดี สามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดหรือใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ นำมิติวัฒนธรรม ภูมิปัญญาต่างๆ ไปสร้างงาน สร้างรายได้แก่ตัวเองและชุมชน ขณะเดียวกันปัญหาอบายมุข สิ่งไม่ดีในชุมชนลดลงหรือหมดไป เช่น ไม่มียาเสพติด ทะเลาะวิวาท ไม่มีลักขโมย หนี้สินลดลง ไม่มีปัญหาขยะ เกิดสิ่งดีงามขึ้นในชุมชน เช่น คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีการรวมกลุ่มต่างๆ ทั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ กลุ่มถ่ายทอด ภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม กลุ่มออมทรัพย์ ฯลฯ และคนในชุมชนมีความจงรักภักดี เคารพเทิดทูนในสถาบันพระมหากษัตริย์ เกิดกลุ่มจิตอาสาทำความดีด้วยหัวใจ ร่วมพัฒนาชุมชน ด้านต่างๆ " ปลัด วธ. กล่าว