กรุงเทพฯ--18 พ.ค.--กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาชุดตรวจหาเชื้ออุจจาระร่วงและอาหาร เป็นพิษ ตรวจคัดกรองการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียด้วยวิธี การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อแบคทีเรียก่อโรค (PCR-ELISA) สามารถตรวจเชื้อได้ครอบคลุม สะดวกแก่การใช้งาน ลดปริมาณการตรวจตัวอย่าง และรายงานผลได้รวดเร็วภายใน 3 วัน
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า โรคอุจจาระร่วง ยังคงเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศ ดังนั้น การดูแลและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารให้มีความสะอาด ปลอดภัย จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 ขอนแก่น ได้วิจัย พัฒนาชุดตรวจ โดยการหาสารพันธุกรรมของเชื้อแบคทีเรียก่อโรค Polymerase chain reaction-enzyme-linked immunosorbent assay (PCR-ELISA) เพื่อตรวจหาเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในกลุ่มอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษ ในตัวอย่างน้ำ และอาหาร ได้แก่ ชุดทดสอบ V6-probe screening เป็นการตรวจคัดกรองว่ามีเชื้อแบคทีเรีย 10 ชนิดหรือไม่ ได้แก่ เชื้อวิบริโอ พาราเฮโมลิติคัส เชื้อคลอสติเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ เชื้อสเต็ปโตค็อคคัส ออเรียส เชื้อบาซิลลัส ซีเรียส เชื้อบาซิลลัส ซีเรียส เชื้อชิเจลลา เชื้ออีโคไล เชื้อซาโมเนลลา เชื้อลิสทีเรีย โมโนไซโตยีนส์ และเชื้อสเต็ปโตค็อคคัส ซูอิส และชุด Specifc - probe typing สำหรับตรวจให้ทราบชนิดของเชื้อในตัวอย่าง ที่พบผลบวกเพื่อแยกชนิดของเชื้อจำเพาะแต่ละชนิดว่าเป็นเชื้อชนิดใด
วิธีการที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้ ช่วยลดปริมาณการตรวจสอบตัวอย่างในเบื้องต้นได้ กรณีที่ต้องการตรวจเชื้อหลายๆ ชนิดในตัวอย่างเดียว ลดความซ้ำซ้อนของขั้นตอนการตรวจ ทำให้สามารถลดระยะเวลาการทดสอบ เพื่อทราบเชื้อจากเดิมที่ใช้การเพาะเชื้อ ซึ่งใช้เวลา 7-10 วัน เหลือเพียงแค่ 3-4 วันทั้งนี้การประเมินผลการใช้ชุดตรวจกับกลุ่มตัวอย่างน้ำ และอาหารที่ส่งมาตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 ขอนแก่น พบว่าผลที่ได้สอดคล้องกับการตรวจแบบวิธีการเพาะเชื้อทั้งการตรวจคัดกรองเชื้อ และการตรวจแยกชนิดเชื้อแบคทีเรีย ทั้งนี้ชุดตรวจ PCR-ELISA ดังกล่าวสามารถผลิตได้เองในประเทศ ราคาเพียง 1,200 บาทต่อหนึ่งตัวอย่าง ซึ่งมีแผนการผลิตเพื่อทดลองใช้ในปี 2562 จึงช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าชุดตรวจจากต่างประเทศ และการเพาะเชื้อ
"กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะนำเทคนิคที่พัฒนาขึ้นนี้ขยายขอบเขตการทดสอบไปสู่ผลิตภัณฑ์สุขภาพชนิดอื่น เช่น ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง สินค้า OTOP เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจแก่ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคว่า ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ปลอดภัยจากเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในกลุ่มอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษ" นายแพทย์สุขุมกล่าว