กรุงเทพฯ--18 พ.ค.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
กพร. กระทรวงแรงงาน รุกประชารัฐ ฝึกทักษะอาชีพด้านพลังงานทดแทน ลดการพึ่งพาน้ำมัน เสริมคมเศรษฐกิจและสังคม
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าจากการที่กระทรวงพลังงานดำเนินการแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาพลังงานทดแทนให้เป็นพลังงานหลักของประเทศ ทดแทนการนำเข้าน้ำมันได้ในอนาคต เสริมสร้างความมั่นคง สนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตเทคโนโลยีพลังงาน โดยมีการตั้งเป้าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งสิ้น 6,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2579 รวมทั้งมีนโยบายจากภาครัฐที่ส่งเสริมให้มีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคาหรือโครงสร้างเพิ่มขึ้น ทำให้ช่างฝีมือในสาขานี้เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก กพร. กระทรวงแรงงาน จึงดำเนินการตามนโยบายพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ด้านการพัฒนาทักษะฝีมือคนทำงาน ทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่ 1.0-4.0 ให้เป็นแรงงานทักษะ (Skilled labour) มีการเพิ่มพูนสมรรถนะให้ตรงกับความต้องการของตลาด
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่าได้ใช้แนวทางประชารัฐร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ดำเนินโครงการหลักสูตรการฝึกยกระดับฝีมือ สาขาพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อประหยัดพลังงาน (Solar Cell for Energy Saving) โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้จัดสรรเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ในการฝึกอบรมให้แก่ครูฝึกกพร. คนทำงาน ที่มีความรู้พื้นฐานทางด้านไฟฟ้าและ อิเล็กทรอนิกส์ ใช้ระยะเวลาการฝึกอบรม 60 ชม. ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ และการสาธิตภายใต้หัวข้อความปลอดภัยในการทำงาน ความรู้เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานทดแทน การวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า การออกแบบและติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการตรวจซ่อมและบำรุงรักษา เบื้องต้นจะดำเนินการฝึกอบรมในหน่วยงานสังกัดกพร. สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) 4 แห่ง ดังนี้ สพร. 2 สุพรรณบุรี สพร. 5 นครราชสีมา สพร. 21 ภูเก็ต สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ และขยายฝึกอบรมไปทั่วประเทศ เมื่อผ่านการฝึกอบรมบุคคลเหล่านี้จะเป็นวิทยากรต้นแบบในการถ่ายทอดความรู้ให้ ช่างชุมชน ช่างในสถานประกอบกิจการ ประชานทั่วไป คาดว่าจะผลิตช่างฝีมือได้ไม่น้อยกว่า 300 คนต่อปี ในการบริการประชาชน
"ความร่วมมือตามแนวทางประชารัฐในครั้งนี้มีประโยชน์อย่างมาก เพราะเป็นการผลิตกำลังแรงงานที่เป็นไปตามหลักสากลที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เป็นการสร้างงานที่ช่วยสร้างเศรษฐกิจที่ลดการพึ่งพาพลังงานหลัก เช่น น้ำมัน ที่การนำเข้าจากต่างประเทศ และอนาคตอันใกล้อาจจะหมดลงได้ การฝึกอบรมจะนำไปสู่ความยั่งยืนด้านพลังงาน เศรษฐกิจ สังคม ให้แก่ชุมชน องค์กร ประเทศ พร้อมเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกให้ประชาชนและสถานประกอบกิจการหันมาสนใจพลังงานทดแทนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ด้านธรรมชาติ สามารถผลิตใช้ได้เองอีกด้วย" อธิบดีกพร. กล่าว