กรุงเทพฯ--18 พ.ค.--กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี
บริหารธุรกิจ มทร.ธัญบุรี จัดอบรมการตลาดออนไลน์สำหรับภาคการเกษตร อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี เพื่อช่วยชุมชนเกษตรกรสำหรับช่องทางการจัดจำหน่ายออนไลน์
ผศ.ดร.สลิตตา สาริบุตร อาจารย์สาขาวิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า จากการดำเนินงานและการลงพื้นที่สำรวจที่ผ่านมา ชุมชนบึงกาสาม มีศักยภาพและความพร้อมที่จะพัฒนาในด้านต่าง ๆ อีกมากมาย แต่ยังมีข้อจำกัดในด้านองค์ความรู้ในด้านการตลาด การบริหารจัดการ การสร้างความแตกต่าง รวมถึงช่องทางการจัดจำหน่าย ซึ่งทางคณะบริหารธุรกิจมีความพร้อมทั้งในด้านองค์ความรู้และบุคลากร ที่จะสามารถให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชนได้ จึงได้วางแผนให้บริการวิชาการแก่ชุมชนแห่งนี้ โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่าย
"ปัจจุบันช่องทางการจัดจำหน่ายบนตลาดอิเล็กทรอนิกส์ มีมากมายและเปิดกว้าง ทั้งของภาคเอกชน และในส่วนที่ภาครัฐเองได้จัดเตรียมให้ แต่ต้องยอมรับว่าเกษตรกรและผู้ประกอบการหลายท่านยังเข้าไม่สามารถเข้าถึงได้ซึ่งเป็นที่น่าเสียดาย เพราะช่องทางออนไลน์ในปัจจุบันถือว่ามีประสิทธิภาพมาก และที่สำคัญคือประหยัดค่าใช้จ่าย เรามองว่าคณาจารย์จากคณะบริหารธุรกิจมีองค์ความรู้ในด้านนี้ ค่อนข้างมาก และมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญ สามารถเข้ามาเติมเต็มเพื่อให้เกษตรกรสามารถผลักดันสินค้าของตนเองไปสู่ตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงได้จัดดำเนินการจัดอบรมการพัฒนาช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ให้แก่กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่ม Young Smart Farmer และกลุ่มลูกหลานเกษตรกร ชุมชนบึงกาสาม โดยครั้งนี้ได้นำนักศึกษาเข้าร่วมเป็นพี่เลี้ยงด้วย เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้เข้ารับการอบรมอย่างแท้จริง เราพยายามให้ความรู้และย้ำให้ผู้เข้าอบรมเห็นความสำคัญของการตลาด เพราะการตลาดในปัจจุบันต้องเป็นไดนามิกส์ มีความต่อเนื่องและสม่ำเสมอ นอกจากการความรู้ทางวิชาการในห้องอบรมแล้ว ยังได้มอบหมายให้นักศึกษาได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าของผู้เข้ารับการอบรม ให้ความช่วยเหลือตามบริบทที่เกิดขึ้นจริงโดยมีคณาจารย์คอยให้คำปรึกษา ซึ่งนักศึกษาเองก็จะได้เรียนรู้จากของจริงได้พัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ ถือเป็นประสบการณ์นอกห้องเรียนที่ดี และพบว่านักศึกษามีความสนใจเรียนมากขึ้น ประสิทธิภาพในการเรียนก็ดีขึ้น" ผศ.ดร.สลิตตา กล่าว
บุษยาภรณ์ เอี่ยมเทศ 'กระต่าย' นักศึกษาสาขาวิชาการตลาด ชั้นปีที่ 4 เล่าถึงมุมมองการตลาดในยุคนี้ว่า ต้องทำให้กลุ่มผู้บริโภคเห็น เข้าใจ รู้ถึงคุณประโยชน์และความแตกต่างในสินค้าและผลิตภัณฑ์ รวมถึงการทำการตลาดออนไลน์จะต้องทุ่มเทอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอกย้ำและสร้างการรับรู้อย่างสม่ำเสมอผ่านการเล่าเรื่องในรูปแบบต่าง ๆ ที่น่าสนใจ การได้ร่วมเป็นผู้ช่วยวิทยากรครั้งนี้ทำให้ตนเองได้ใช้ความรู้และประสบการณ์ด้านสื่อออนไลน์ มาบอกกล่าวแนะนำให้กับเกษตรกร และมองว่าเกษตรกรไทยสามารถเติบโตทางธุรกิจได้อย่างแน่นอน ปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งคือการทำการตลาดออนไลน์
ขณะที่ พัชรา พงษ์ปลัด 'น้ำฟ้า' นักศึกษา สาขาวิชาระบบสารสนเทศ ชั้นปีที่ 4 เผยว่า ได้ช่วยดูแลผู้เข้าอบรมในโครงการในการใช้คอมพิวเตอร์สำหรับช่องทางการตลาดออนไลน์ ได้แนะนำการสร้างเพจ การฝากร้านตามเว็บไซต์ต่าง ๆ เนื่องจากเป็นช่องทางที่ต้นทุนต่ำ รี ข้อสำคัญอย่างหนึ่งจะต้องทำให้สินค้าบริการนั้นมีเอกลักษณ์ มีจุดขายที่น่าสนใจ เพื่อสร้างความอยากซื้อของผู้บริโภค
ด้าน อคิรเสฏฐ์ โมลิสกุลมงคล 'ข้าวตอก' ชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ มองว่า การตลาดออนไลน์สำหรับภาคการเกษตรนั้น จะต้องมีพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์และสื่อสังคมออนไลน์ ต้องรู้จักและเคยใช้งานมาก่อนแล้ว ต้องหาแรงบันดาลใจและเรียนรู้ตัวอย่างจากสินค้าอื่น แล้วมาประยุกต์ใช้กับสินค้าของเรา และรายละเอียดสินค้าเป็นสิ่งสำคัญ ช่วยให้ผู้บริโภครับรู้และเกิดความต้องการซื้อในที่สุด
ปิดท้ายที่ ณัฐกิตติ์ แก้วช่วย 'ไปท์' สาขาวิชาการตลาด ชั้นปีที่ 3 เล่าว่า เกษตรกรและผู้ประกอบการหลายท่าน มีสินค้าที่น่าสนใจ เช่น ยาหม่องสมุนไพร โสมรังนก สมุนไพรขัดผิว กระเป๋าถัก กล้วยฉาบ ซึ่งเป็นสินค้าท้องถิ่น การจะเข้าสู่ช่องทางออนไลน์นั้นจะต้องสร้างจุดขายของตนเองให้เจอ มีเรื่องเล่าถึงสินค้าอย่างต่อเนื่อง ภายใต้จรรยาบรรณและความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค
ทั้งหมดนี้คือหลากหลายความคิดที่ร่วมมือร่วมใจ และแสดงออกด้วยความมุ่งมั่น เพื่อช่วยกลุ่มเกษตรให้ยืนหยัดอย่างแข็งแกร่งในยุคไทยแลนด์ 4.0