กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
"สทนช."จ่อถกหน่วยงานเกี่ยวข้องด้านเทคนิคประเมินรอบด้าน หลัง"ไจก้า" จัดเวทีแจงผลศึกษาโครงการพัฒนาคลองผันน้ำคู่ขนานถนนวงแหวนรอบ 3 ฉบับสุดท้าย ก่อนเสนอกนช.เคาะเข้าสู่ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของประเทศ
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังเปิดการสัมมนาเรื่อง "การจัดการน้ำท่วมของลุ่มน้ำเจ้าพระยา : Flood Management of Chao Phraya River Basin" ซึ่งจัดขึ้นโดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือไจก้า ณ โรงแรมเวสทิน แกรนด์ สุขุมวิท ว่า การสัมมนาครั้งนี้เป็นการนำเสนอผลการศึกษาโครงการพัฒนาคลองผันน้ำควบคู่ไปกับถนนวงแหวนรอบที่ 3 ครั้งสุดท้ายของไจก้า ซึ่งเป็นโครงการที่ผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยาลงสู่อ่าวไทย ที่ช่วยลดความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้อยู่ในวงจำกัด และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่พื้นที่เศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยโครงการผันน้ำควบคู่กับถนนวงแหวนรอบที่ 3 เป็น 1 ใน 9 แผนหลักที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้เห็นชอบในหลักการเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างทั้งระบบ
อย่างไรก็ตาม หลังการรับฟังผลการศึกษาโครงการผันน้ำควบคู่กับถนนวงแหวนรอบที่ 3 ของไจก้าครั้งนี้แล้ว สทนช.ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และยังเป็นหน่วยงานกลาง (Regulator) ที่ประสานงาน กำกับดูแล และบูรณาการการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำของประเทศด้วยนั้น สทนช.ต้องพิจารณาเงื่อนไขในการศึกษาของไจก้า และการจัดการน้ำท่วมในไทยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทางเทคนิค เพื่อวิเคราะห์และตัดสินใจโดยอยู่บนพื้นฐานทางวิชาการให้ได้ทางเลือกที่ดีที่สุด ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อบรรจุในร่างยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ 12 ปี ซึ่งอยู่ระหว่างการทบทวนให้เป็นระยะ 20 ปี ที่มีเป้าหมายจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกันยายน 2561 นี้ด้วย
"มาตรการป้องกันสำหรับการลดความเสี่ยงอุทกภัยบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 9 แผนหลักที่ กนช.ได้ให้ความเห็นชอบในหลักการแล้วนั้น ประกอบด้วย 1.โครงการปรับปรุงระบบชลประทาน 2.โครงการคลองระบายน้ำหลากเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก แบ่งเป็น ช่วงคลองชัยนาท – ป่าสัก และ ช่วงคลองป่าสัก – อ่าวไทย 3. โครงการผันน้ำควบคู่กับถนนวงแหวนรอบที่สาม 4.โครงการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก 5.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา 6.โครงการบริหารจัดการพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ 7.โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล – บางไทร (อยุธยาบายพาส) 8.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน และ 9.โครงการพื้นที่รับน้ำนอง ที่ปัจจุบันหลายแผนงานได้มีการขับเคลื่อนไปแล้ว แต่บางแผนงานต้องศึกษาในรายละเอียดด้านเทคนิคสิ่งแวดล้อมและสังคมให้รอบคอบ เพื่อนำมาจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินการ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณมากกว่า 1,000 ล้านบาท ต้องวิเคราะห์และพิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลกระทบและความคุ้มค่าสูงสุดด้วย