กรุงเทพฯ--2 พ.ย.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะวิธีซ่อมแซมอุปกรณ์ภายในบ้าน หลังน้ำลด เช่น ประตู หน้าต่าง เฟอร์นิเจอร์ ระบบประปา และเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่หากไม่มีความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์ไฟฟ้าควรเรียกช่างไฟฟ้ามาแก้ไขโดยด่วน เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ได้อย่างมีคุณภาพและปลอดภัย
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลายลงแล้ว เนื่องจากปริมาณฝนลดน้อยลง และเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว โดยขณะนี้มีพื้นที่ประสบน้ำท่วมขังเพียง 9 จังหวัด ซึ่งในช่วงที่น้ำท่วมนั้น นอกจากบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายแล้ว อุปกรณ์ของใช้ภายในบ้าน อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ชำรุด ก็ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมขังเป็นเวลานานเช่นกัน ภายหลังน้ำลด ผู้ประสบภัยจึงต้องดำเนินการซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆ ดังนี้
ประตู หน้าต่าง ถ้าเป็นวัสดุที่ทำด้วยไม้ และแช่น้ำเป็นเวลานาน อาจเกิดการบวมและบิดตัวได้ ควรปล่อยทิ้งไว้ ให้แห้งสนิทก่อนแล้วจึงค่อยทาสีใหม่ ถ้าโครงสร้างเป็นเหล็ก ให้ใช้กระดาษทรายขัดสนิมออกให้หมดก่อนจะทาสีใหม่ เฟอร์นิเจอร์ ให้เอาความชื้นออกให้มากที่สุด ด้วยการตากแดดหรือถอดออกมาเช็ด ถ้าเป็นประเภทที่บุด้วยนุ่นหรือฟองน้ำ ควรเปลี่ยนใหม่ เพราะแม้จะตากแดดจนแห้งสนิท ก็ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคอย่างดี ฝ้าเพดาน หากพบว่ามีการเปื่อยยุ่ย จากการอมน้ำให้เลาะออกทันที
หากปล่อยทิ้งไว้อาจหล่นลงมาทำให้เกิดอันตรายได้ ระบบประปา ให้ตรวจสอบท่อส่งน้ำภายในบ้านว่า มีรอยแตกหรือเกิดการรั่วซึมหรือไม่ โดยเฉพาะบริเวณข้อต่อ ควรตรวจสอบอย่างละเอียด บานพับ ลูกบิดและรูกุญแจ อุปกรณ์เหล่านี้ เมื่อถูกน้ำจะเกิดปัญหาได้ง่าย ให้เช็ดน้ำออกให้แห้งสนิท ขัดส่วนที่เป็นสนิม แล้วใช้น้ำยาหล่อลื่นชโลมตามจุดรอยต่อ แต่อย่าใช้ จารบี เพราะจะยิ่งทำให้ความชื้นระเหยออกมาไม่ได้ อาจเกิดปัญหาขึ้น ภายหลัง และสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ ระบบไฟฟ้า ควรตรวจสอบ ให้ดี เพราะอาจเกิด ไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อต และไฟฟ้าลัดวงจร มีสาเหตุ มาจากอุปกรณ์ฟฟ้าชำรุด เปียกน้ำ ชื้น หรือฉนวนสายหุ้มขาดเสื่อมคุณภาพ อาจมีกระแสไฟรั่วไหลทำให้เกิดอันตรายได้ ถ้าเครื่องใช้ไฟฟ้าเปียกน้ำ ควรถอดออกมาเช็ดให้แห้งสนิทก่อนนำมาใช้งานอีกครั้ง ตรวจสอบสายไฟฟ้า ที่ต่อระหว่างเครื่องใช้ไฟฟ้ากับเต้าเสียบว่าชำรุดหรือไม่ หากจุดต่อเชื่อมระหว่างเครื่องใช้ไฟฟ้ากับสายไฟมีความชื้นอาจทำให้เกิดไฟฟ้าดูดได้รับอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ถ้าสายไฟฟ้ามีการลอกเปื่อย บวม ให้รีบเปลี่ยนทันที หากไม่มีความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์ไฟฟ้า ไม่ควรตรวจซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ทำงานด้วยมอเตอร์หรือหม้อแปลงด้วยตนเอง นอกจากนี้ ควรตรวจสอบการรั่วไหลของกระแสไฟฟ้า โดยลองดับไฟและถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกจุด หากพบว่ามิเตอร์ยังทำงาน แสดงว่ามีการรั่วไหลของกระแสไฟฟ้า ควรเรียกช่างไฟฟ้ามาแก้ไขโดยด่วน เพื่อความปลอดภัย สุดท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ สายด่วนสาธารณภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง