กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--กรมประมง
อธิบดีกรมประมง ลงพื้นที่จ.ภูเก็ต หลังได้รับรายงานพบเรือประมงแสงสมุทร 2 และ 3 ร่วมจับฉลามวาฬสัตว์ต้องห้ามตามประกาศกระทรวงเกษตรฯ ยันเดินหน้าเอาผิดตาม พ.ร.ก.ประมง' 58 ชี้โทษปรับ-ริบเรือ-ถอนใบอนุญาตทำประมง
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ตามที่มีการนำเสนอข่าวทางสื่อออนไลน์ว่ามีการจับปลาฉลามวาฬขึ้นเรือประมงจังหวัดภูเก็ต ซึ่งจากการเดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบ ที่ท่าเทียบเรือประมงแพแสงอรุณภูเก็ตด้วยตนเอง โดยเบื้องต้นจากการตรวจสอบและรายงานจากเจ้าหน้าที่กรมประมงในพื้นที่ พบว่า 1.เรือประมงดังกล่าวทำการประมงประเภทอวนลาก ชื่อเรือแสงสมุทร 3 ทะเบียนเรือ 228304242 เลขที่ใบอนุญาตทำการประมง 618301010283 เจ้าของเรือ คือนายวัชรพล วรรณะ มีนายสมสมัย มีจอม เป็นผู้ควบคุมเรือ 2.เจ้าหน้าที่สหวิชาชีพได้ตรวจเรือที่แจ้งเข้าท่าเวลา 22.00 น ของวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา พบหลักฐานจากการชี้แจงของผู้ควบคุมเรือยอมรับว่าภาพทางสื่อออนไลน์เป็นเรือดังกล่าวจริง โดยได้ร่วมกับ เรือประมง แสงสมุทร 2 ที่มีนายรัตนา พรหมงาม เป็นผู้ควบคุมเรือทำการประมงลากคู่จับสัตว์น้ำในทะเลอันดามัน เจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าว จึงได้รวบหลักฐานแจ้งลงบันทึกประจำวัน และร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสืบสวน สภ.เมืองภูเก็ต เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 66 พ.ร.ก.การประมง.พ.ศ.2558 ประกอบประกาศกระทรวงเกษตรฯ เรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธ์ที่ห้ามจับหรือนำขึ้นเรือประมง พ.ศ.2559 ข้อ 2 (4) ปลาฉลามวาฬ เพื่อดำเนินคดีกับนายสมสมัย มีจอม และนายรัตนา พรหมงาม และผู้กระทำผิด จนกว่าคดีจะถึงที่สุด 3. ได้สั่งดำเนินการกักเรือ ยึดสัตว์น้ำและเครื่องมือ โดยกรมประมงได้ประสานไปยังกรมเจ้าท่าเพื่อดำเนินการล๊อคเรือ ตามคำสั่ง คสช.22/2560 ข้อ 22 ที่ระบุว่ากรณีมีหลักฐานอันเชื่อได้ว่าเรือประมงลำใดเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประมง ให้พนักเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายซึ่งพบการกระทำความผิดสั่งกักเรือไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด และแจ้งให้กรมเจ้าท่าทราบภายใน 24 ชั่วโมงนับจากออกคำสั่งกักเรือ และดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน ขณะเดียวกัน หากเรือลำดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดอย่างร้ายแรงตามกฎหมายว่าด้วยการประมงให้ศาลสั่งริบเรือทันที
สำหรับบทลงโทษผู้กระทำผิดตาม พ.ร.ก.ประมง 2558 ตามมาตรา 66 คือ ปรับสามแสนถึงสามล้านบาท หรือปรับมูลค่า 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่จับหรือนำขึ้นเรือประมงแล้วแต่ว่าจำนวนใดจะสูงกว่ากัน ขณะเดียวกัน เรือดังกล่าวต้องถูกพิจารณาถอนใบอนุญาตการทำประมงตามมาตรา 39 และไม่สามารถขอใบอนุญาตการทำประมงได้อีก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งรวบรวมข้อมูล หลักฐานเพื่อดำเนินการเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องตามกฎหมายโดยเร็วต่อไป