กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--นิด้าโพล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "4 ปี คสช. กับการคืนความสุขให้คนในชาติ" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15 – 16 พฤษภาคม 2561 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,253 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินและความสุขของคนในชาติ หลังจากครบรอบ 4 ปี ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงระดับความสุขของประชาชนในโอกาสครบรอบ 4 ปี ของ คสช. ในการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.85 ระบุว่า มีความสุขเท่าเดิม เพราะ ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ชีวิตความเป็นอยู่ยังคงเหมือนเดิม การบริหารงานไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม เศรษฐกิจและค่าครองชีพยังสูงเช่นเดิม รองลงมา ร้อยละ 27.69 ระบุว่า มีความสุขเพิ่มขึ้น เพราะ ไม่มีการชุมนุมและความวุ่นวายทางการเมือง บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อยมากขึ้น คณะทำงาน คสช. มีความมุ่งมั่นและตั้งใจในการทำงาน ทำให้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันลดลง และร้อยละ 25.46 ระบุว่า มีความสุขลดลง เพราะ เศรษฐกิจปากท้อง ของประชาชนแย่ลง ค่าครองชีพสูง ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ การบังคับใช้กฎหมายหรือแก้ไขกฎหมายไม่ตรงจุด มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพมากเกินไป และขาดความมั่นคงทางประชาธิปไตย
เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ 3 ปี คสช. กับการคืนความสุขให้คนในชาติ ที่ทำการสำรวจเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 พบว่า สัดส่วนของผู้ที่มีความสุขเพิ่มขึ้น มีสัดส่วนลดลง (จากเดิม ร้อยละ 32.64 เป็นร้อยละ 27.69) ขณะที่สัดส่วนของผู้ที่มีความสุขเท่าเดิมมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น (จากเดิม ร้อยละ 42.00 เป็นร้อยละ 46.85) เช่นเดียวกับสัดส่วนของผู้ที่มีความสุขลดลงมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น (จากเดิม ร้อยละ 21.76 เป็นร้อยละ 25.46)
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารราชการแผ่นดินครบรอบ 4 ปี ของ คสช. ในประเด็นต่าง ๆ ที่ทำให้มีความสุขมากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.99 ระบุว่า เป็นเรื่องของบ้านเมืองสงบเรียบร้อยไม่มีความวุ่นวายทางการเมือง รองลงมา ร้อยละ 16.76 ระบุว่า ไม่มีประเด็นใดที่ทำให้มีความสุข ร้อยละ 9.66 ระบุว่า เป็นการมุ่งแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ร้อยละ 6.15 ระบุว่า เป็นการจัดระเบียบสังคม เช่น การจัดระเบียบทางเท้า การจัดระเบียบชายหาด ร้อยละ 4.95 ระบุว่า เป็นการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพประชาชน ร้อยละ 3.11 ระบุว่า เป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวม ร้อยละ 2.23 ระบุว่า เป็นการแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ร้อยละ 2.00 ระบุว่า เป็นการแก้ไขปัญหาปากท้องเกษตรกร ร้อยละ 1.04 ระบุว่า เป็นการมีเสรีภาพมากขึ้น ร้อยละ 1.04 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ การแก้ไขปัญหาสวัสดิการของรัฐ การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัญหายาเสพติด และร้อยละ 0.08 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายสุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารราชการแผ่นดินครบรอบ 4 ปี ของ คสช. ในประเด็นต่าง ๆ ที่ยังไม่สามารถทำให้มีความสุข พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 30.81 ระบุว่า เป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวม รองลงมา ร้อยละ 15.08 ระบุว่า เป็นการแก้ไขปัญหาปากท้องเกษตรกร ร้อยละ 11.89 ระบุว่า เป็นการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพประชาชน ร้อยละ 11.49 ระบุว่า เป็นการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ร้อยละ 10.93 ระบุว่า ไม่มีประเด็นใดที่ไม่มีความสุข ร้อยละ 10.22 ระบุว่า เป็นการที่ยังไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ร้อยละ 3.11 ระบุว่า เป็นการแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ร้อยละ 2.63 ระบุว่า เป็นการมีเสรีภาพที่ยังไม่เต็มที่ของสื่อมวลชน ร้อยละ 1.28 ระบุว่า เป็นการจัดระเบียบสังคม เช่น การจัดระเบียบทางเท้า การจัดระเบียบชายหาด และร้อยละ 2.55 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ การแก้ไขปัญหา ยาเสพติด สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันในสังคม การบังคับใช้กฎหมายในบางเรื่องที่เข้มงวดมากเกินไป การแก้ไขปัญหาของประเทศในบางเรื่องที่ยังไม่เป็นรูปธรรม ขณะที่บางส่วนระบุว่า เป็นการแก้ปัญหาระบบการศึกษา การปฏิรูปประเทศ และการปฏิรูปองค์กรตำรวจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 9.34 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.86 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.68 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 31.76 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.37 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 51.72 เป็นเพศชาย ร้อยละ 48.12 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.16 เป็นเพศทางเลือก
ตัวอย่างร้อยละ 5.03 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 15.08 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 22.75 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 34.96 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 21.39 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 0.80 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่างร้อยละ 92.98 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.35 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.88 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 2.79 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 21.71 สถานภาพโสด ร้อยละ 70.47 สมรสแล้ว ร้อยละ 4.71 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 3.11 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส
ตัวอย่างร้อยละ 28.25 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 28.65 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.78 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 27.61 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.43 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 3.27 ไม่ระบุการศึกษา
ตัวอย่างร้อยละ 12.45 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 11.01 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 23.30 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 15.88 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.56 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 16.20 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.08 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 3.51 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 11.81 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 26.02 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 25.46 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 11.41 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.23 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 7.10 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 11.97 ไม่ระบุรายได้