กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--DEK
การเกิดแผลในกระเพาะอาหารเป็นความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารที่พบโดยทั่วไป และได้รับความสนใจศึกษาทั้งจากแพทย์และนักวิจัย อาการของโรคนี้แม้จะไม่อันตรายถึงชีวิต แต่ก็ทำให้ผู้ป่วยได้รับความทรมาน และมีโอกาสกลับมาเป็นโรคนี้ใหม่ได้อีก ในปัจจุบัน แม้ว่าจะมียาหลายชนิดที่ใช้ป้องกันและรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารได้ แต่ยาเหล่านี้กลับก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยในกรณีที่ใช้มาก อาทิ เกิดผลต่อตับหรืออวัยวะในร่างกาย ซึ่งแตกต่างจากการใช้พืชสมุนไพรในการรักษา
ในการประชุมวิชาการประจำปี การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก งานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 4 ที่จัดโดยกรมพัฒนาแพทย์แผนไทย และแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข และองค์กรภาคี ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม — 31 สิงหาคม 2550 ได้นำเสนอผลงานวิจัยของ คุณสิรดา ศรีหิรัญ อาจารย์ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะ ที่ได้นำสารที่สกัดจากหัวปลีด้วยแอลกอฮอล์มาใช้ทดสอบความสามารถในการป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของหนูขาวในโมเดลที่ถูกชักนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร จาก เอทานอล อินโดเมทาซีน และความเครียด ซึ่งป็น 3 ปัจจัยภายนอกที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารในคน เช่น คนที่ดื่มสุรา (เอทานอล) จำนวนมาก และเป็นประจำ หรือ คนที่กินยาแก้ปวด อินโดเมทาซีน หรือ กลุ่มยาแก้อักเสบ เช่น เพนนิซิลิน ซึ่งกัดกระเพาะอาหารจนเกิดเป็นแผลได้ หรือความเครียด
ซึ่งผลการวิจัย พบว่าการใช้สารสกัดจากหัวปลีสามารถป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้มากถึง 47.88 — 87.63% โดยเฉพาะในกลุ่มที่เกิดแผลในกระเพาะอาหารโดยเอทานอลจากการดื่มสุราอยู่เป็นประจำ เป็นการยืนยันภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ใช้หัวปลีในการรักษา และป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้จริง ซึ่งกล้วยและหัวปลี เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างการใช้สมุนไพรที่มีอยู่มากมายในประเทศที่สามารถใช้รักษา และป้องกันโรคได้ โดยไม่เกิดผลข้างเคียง และยังเป็นประโยชน์ ทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ การประชุมวิชาการประจำปี การแพทย์แผนไทยฯ ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 4 ที่ผ่านมา มีผลงานวิจัยมากมายที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาชาวบ้านในแต่ละภูมิภาคใช้สมุนไพรในการป้องกัน และรักษาโรค ซึ่งการประชุมวิชาการนี้นำประโยชน์จากงานวิจัยใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อไป พบกับผลงานวิจัยดีๆ ได้ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติได้ในครั้งต่อไป