สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มุ่งพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์ไทยสู่สากล

ข่าวทั่วไป Wednesday May 4, 2005 13:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--รี้ดเทรดเด็กซ์
สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ต้องการสนับสนุนการพัฒนาด้านการทดสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ให้ตรงตามมาตรฐานสากล เพื่อสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์ที่ออกจากโรงงาน SME ของไทยจะได้มีการพัฒนาคุณภาพเพิ่มขึ้น
นายจารึก เฮงรัศมี ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Electrical and Electronics Institute) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กำลังพยายามปรับบทบาทให้เป็น Intelligent Unit ที่พร้อมให้คำตอบทุกเรื่องเกี่ยวกับไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ให้เป็นแหล่งข้อมูลทางด้านนี้ และ นอกจากนี้ยังจัดให้เป็น Service Provider เช่น การให้บริการเรื่องการทดสอบ การบริการเรื่องระบบธุระกรรมการผลิต เป็นต้น โดยได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดูแลด้านการทดสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในการกำหนดคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ดังนั้นการทดสอบจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำตามหลักมาตรฐานสากล นอกจากจะได้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานแล้วในการทดสอบแต่ละครั้งแล้ว ทั้งก่อนการผลิต ระหว่างการผลิตและหลังการผลิต จะช่วยให้เกิดการค้นคว้า วิจัยและสร้างพัฒนาการต่างๆได้ ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ที่ออกจากโรงงานของอุตสาหกรรม SME ของไทยก็จะมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ
กระบวนการร่างมาตรฐานจำเป็นต้องใช้เวลาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งจะต้องเทียบเท่ามาตรฐานสากลแต่ต้องปรับให้เข้ากับประเทศไทยด้วย เช่นประเทศไทยมีปัจจัยเรื่องความร้อน ความชื้นเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่นหลอดไฟ จอภาพโทรทัศน์ จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงจุดนี้ด้วย จึงสามารถออกมาเป็นมาตรฐานบังคับสำหรับผู้ผลิตที่จะต้องส่งผลิตภัณฑ์เข้ามารับการทดสอบ ซึ่งมาตรฐานตรวจสอบการนำเข้า-ส่งออกจึงถือเป็นการป้องกันให้กับสินค้าที่ผลิตในประเทศอีกทางหนึ่ง
นายจารึก กล่าวว่าอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยโดยรวมเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าปี 2548 จะโตน้อยกว่าปีที่แล้ว หากดูจากตัวเลขการส่งออกในปี 2547 ที่พุ่งขึ้นถึง 1.3 ล้านล้านบาท (โตขึ้น 14% เมื่อเทียบกับปี 2546) ขณะที่ตัวเลขอิมพอร์ตอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท จึงเกิดผลต่างประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์โดยรวม ที่เติบโตมากก็คือ เครื่องใช้ไฟฟ้า 21% (เทียบกับปี 46) มีมูลค่าส่งออกรวมถึง 540,000 ล้านบาท ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โต 40% มูลค่าส่งออกรวม 790,000 บาท
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็น 1 ใน 3 อุตสาหกรรมหลักสำหรับส่งออกของประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ถือว่าเป็นชิ้นส่วนสำคัญของหลายๆอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ทั้งคันประกอบด้วยอิเล็กทรอนิกส์ถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเมื่อเมื่ออุตสาหกรรมยานยนต์โต อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ก็โตตามด้วยเช่นกัน (โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับรถยนต์) ในส่วนของผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน จีนจะมาแรงมากในโลกของการแข่งขัน เนื่องจากจีนได้ประกาศตัวเป็น World’s Manufacturer ทั้งนี้เพราะความสามารถในการผลิต เช่น แอร์คอนดิชั่น ไมโครเวฟ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ที่สามารถผลิตได้หลายล้านเครื่อง ขณะที่ประเทศไทยผลิตได้น้อยกว่ามาก ประเทศไทยมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อยู่ไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย แต่หากนับรวมทั้งด้านการผลิตและการบริการจะมีอยู่ประมาณ 3,000 ราย นายจารึกกล่าว
ในขณะที่มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีแม้ว่าจะมีการเปิดเขตการค้าเสรี แต่ในปีที่ผ่านมาสหภาพยุโรป (อียู) ได้เริ่มประกาศใช้ระเบียบว่าด้วยการจัดการของเสีย อันเกิดจากซากเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ (West Electrical and Electronic Equipment: WEEE) และระเบียบว่าด้วยการจำกัดการใช้สารอันตราย (Restrictions on Hazardous Substances: RoHS) โดยระบบ RoHS นี้อาจส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกของไทย
ดังนั้น ทางสถาบันจึงต้องการที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ไทยที่ต้องการส่งสินค้าที่ไม่มี สารต้องห้ามส่งออกไปยังยุโรป ซึ่งตอนนี้ได้เสนอเรื่องไปยัง JETRO เพื่อสร้างซอฟแวร์ที่ใช้เป็นตัวทดสอบ เพื่อให้เป็นโปรแกรมกลางสำหรับพวก SME ได้ใช้
โดยในปีนี้ทางสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เตรียมจัดกิจกรรมร่วมกับบริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด ในงาน เนปคอน ไทยแลนด์ 2005 งานแสดงเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนหนึ่งของงาน NEPCON Series ที่โด่งดังไปทั่วโลก ในระหว่างวันที่ 16-19 มิถุนายน 2548 ณ.อิมแพ็ค เมือทองธานี โดยเป็นการจัดการประชุมเพื่อส่งเสริมความรู้ งานปีนี้จะเน้นเรื่องสารต้องห้าม ขบวนการบัดกรี ทางสถาบันฯจึงได้นำบุคคลที่มีประสบการณ์ตรงทางด้านนี้ เช่น โซนี่ มัตซูชิตะ ให้นำตัวอย่างมาให้ดูเพื่อประโยชน์แก่กลุ่ม SME โดยรวมถึงการนำเสนอระบบซอฟต์แวร์ด้วย ทั้งนี้ต้องการให้กลุ่ม SME ของไทยมีโอกาสพบปะกับผู้ประกอบการรายใหญ่ และได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ได้รู้จัก
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ชูจิตร ภิรมย์อรรถ
โทร. 02653-7272 ต่อ 104
แฟกซ์. 0-2653-7282
อีเมลล์. chuchit@reedtradex.co.th--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ