โอกาสและการเติบโตของผลไม้ไทยในตลาดจีน

ข่าวทั่วไป Tuesday May 22, 2018 11:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--คิปส์ คอมมูนิเคชั่น จากกระแสการส่งออกผลไม้ไทยไปตลาดจีน สู่การเกิดกลไกทางการตลาดด้านต่าง ๆ รวมถึงระบบพ่อค้าคนกลาง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงมากขึ้น และไม่ได้จำกัดเฉพาะทุเรียน มังคุด ลำไย แต่ยังได้ส่งผลไปถึงผลไม้ชนิดอื่น ๆ อาทิ มะพร้าว มะขาม จากผลไม้ไทยที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าทั้ง 22 ชนิด ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของตลาดจีนที่ต้องการผลไม้ไทยมากขึ้น โดยในปี 2560 มียอดส่งออกผลไม้ไทยสู่ตลาดจีนเพิ่มขึ้นกว่า 25.46% พัชรพร สิริทรัพย์วงศ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ ไป่ตู้ แอคเซส กล่าวว่า "ในมุมมองของไป่ตู้ แอคเซส ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาการวางแผนสื่อโฆษณาจีนออนไลน์ ถือว่าตลาดจีนเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหญ่ด้วยประชากรมากถึง 1,400 ล้านคน รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ด้วยกำลังซื้อที่สูงของตลาดจีน บวกกับรสชาติผลไม้ไทยที่เป็นที่นิยมของชาวจีน อีกทั้งกำลังการผลิตผลไม้ภายในประเทศจีนไม่เพียงพอต่อการบริโภคของคนจีน ดังนั้นโอกาสที่ผู้ผลิตผลไม้ไทยทั้งผลไม้สดและแบบแปรรูปยังคงมีอีกมาก โดยเฉพาะทุเรียนหมอนทองอบแห้งที่ติดอันดับ 1 ใน 10 สินค้ายอดนิยมจากประเทศไทยที่คนจีนต้องการ จากข้อมูลนักท่องเที่ยวจีนในไทยปี 2560 ซึ่งมีชาวจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยกว่า 10 ล้านคน โดยสถิติในไตรมาสแรกของปี 2561 มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาเที่ยวไทยแล้วกว่า 3 ล้าน คนประกอบกับวัฒนธรรมของชาวจีนที่นิยมซื้อสินค้าจากต่างประเทศไปฝากญาติมิตรซึ่งส่วนใหญ่เป็นของกินของใช้ จึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้ชาวจีนได้รู้จักผลไม้ไทยมากขึ้น ดังนั้นเมื่อนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเมืองไทยช่วงวันหยุดยาว เช่น วันตรุษจีน ในช่วงเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์ และวันชาติจีนในเดือนตุลาคม หากในช่วงเวลาดังกล่าวมีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับผลไม้ไทยให้กับนักท่องเที่ยวจีน ณ แหล่งท่องเที่ยวในไทย รวมทั้งความร่วมมือของภาครัฐในการจัดงานประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยในเมืองต่างๆ ในจีนล่วงหน้า ก็อาจส่งผลให้ผู้บริโภคชาวจีนได้มีโอกาสชิมและซื้อผลไม้ไทยมากขึ้น "ทางด้านความท้าทายของการส่งออกผลไม้ไทยไปตลาดจีน ผู้ผลิตผลไม้ในประเทศไทยอาจต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค ในด้านการรักษาคุณภาพของผลไม้ระหว่างกระบวนการขนส่ง ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทที่สามารถขนส่งผลไม้ไปยังจีนได้ภายใน 120 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามการแปรรูปผลไม้สดเป็นผลไม้อบแห้งก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการคงคุณค่าผลไม้เอาไว้ได้นาน รวมถึงการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายที่เหมาะสม อาทิและการสร้างแบรนด์สินค้าให้น่าจดจำ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ไม่สูญเสียโอกาสทางการค้า อีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกผลไม้สดและผลไม้แปรรูปได้อีกจำนวนมาก " พัชรพรกล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ