กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--มทร.ธัญบุรี
มทร.ธัญบุรี นำคณาจารย์ลงพื้นที่ ติวเข้มสมุนไพรให้กับสมาชิกสหกรณ์การเกษตรสบปราบ เพื่อสร้างคลัสเตอร์สมุนไพร นำร่องขับเคลื่อนใน จ.ลำปาง
รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เผยว่า สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มอบหมายให้ มทร.ธัญบุรี สานต่อกิจกรรมคลัสเตอร์สมุนไพร ภายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่ายเอสเอ็มอีในปี 2561 เพื่อยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและเกษตรกรในกลุ่มสมุนไพร โดยพัฒนาเครือข่ายเดิมในปีแรกให้เติบโตและมีความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจให้มากยิ่งขึ้น ตามกระบวนการพัฒนาคลัสเตอร์สู่ปีที่ 2 และพัฒนาคลัสเตอร์สมุนไพรใหม่อีก 3 คลัสเตอร์ คือ จังหวัดน่าน ลำปางและนครพนม
ด้าน นางสาวพรทิพย์ ตันติวงศ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่ากิจกรรมคลัสเตอร์สมุนไพรในปี 2561 จะเน้นการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมและงานวิจัยมาใช้เป็นแนวทางหลักเพื่อการพัฒนาทั้งในส่วนของการปลูก กระบวนการผลิต การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและการบริหารจัดการธุรกิจ รวมถึงให้คำปรึกษาเชิงลึกและวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ของกิจการให้ตรงกับความต้องการของตลาด สำหรับ จ.ลำปาง มีการเปิดโครงการ อบรมเติมความรู้และให้คำปรึกษาเชิงลึก ณ สหกรณ์การเกษตรสบปราบ อ.สบปราบ โดยคณาจารย์จากวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย และคณะเทคโนโลยีการเกษตร มทร.ธัญบุรี
นายสมาน สุภัควาณิชย์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการบริหารการจัดการสำนักงานสหกรณ์ จ.ลำปาง กล่าวถึงกิจกรรมคลัสเตอร์สมุนไพรครั้งนี้ว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากพื้นที่โดยเฉพาะ อ.สบปราบ มีพืชสมุนไพรอยู่มากมาย เกษตรกรส่วนใหญ่ก็มีองค์ความรู้พื้นฐานเดิมอยู่ การที่คณาจารย์ มทร.ธัญบุรี มาจัดโครงการให้ นับว่าเป็นการช่วยยกระดับการปลูกพืชสมุนไพรของจังหวัดให้มีคุณภาพ มีเส้นทางในการดำเนินธุรกิจต่อไป รวมถึงมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเสริมเพื่อช่วยให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เพียงพอต่อความต้องการของตลาดและเป็นที่นิยม ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกมีรายได้เพิ่มขึ้น มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี รวมถึงขยายผลต่อไปในอำเภออื่นๆ ในจังหวัดลำปาง
ขณะที่ นางกรรณิกา เรืองสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกรมส่งเสริมสหกรณ์การเกษตรสบปราบ กล่าวว่าการพัฒนาและสร้างองค์ความรู้อย่างเป็นระบบดังเช่นโครงการที่จัดนี้ จะทำให้สมาชิกสหกรณ์ฯ เกิดความรู้ในมุมมองใหม่ในด้านสมุนไพร ส่งเสริมให้เกิดการใช้ในระดับครัวเรือน ขยายผลสู่การแปรรูปเพื่อจัดจำหน่ายในท้องถิ่น จังหวัดและประเทศต่อไป หวังว่าเครือข่ายสมุนไพรที่จะเกิดขึ้นนี้ ช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชสมุนไพรและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค สหกรณ์การเกษตรสบปราบจะเป็นแกนนำในการรับโครงการเพื่อขับเคลื่อนในจังหวัดลำปางต่อไป
ด้านเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ นายวิสิทธิ์ สิทธิ ผู้ปลูกสมุนไพรและจำหน่ายลูกประคบสมุนไพร เผยความรู้สึกว่าเป็นโอกาสดี ที่หลายหน่วยงานร่วมมือกันเพื่อสร้างให้เกิดเครือข่ายสมุนไพร โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญจาก มทร.ธัญบุรี ผมอยากเห็นเกษตรกรอยู่ดีกินดี ปลูกสมุนไพรแล้วมีตลาดรองรับ ส่วนผู้แปรรูปสมุนไพรนั้นมีองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อมาพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร ขณะที่ผู้บริโภคคนไทยก็สามารถซื้อหามาใช้ในราคาที่น่าพอใจ อยากให้สมุนไพรไทยมีคุณภาพควบคู่กับการวิจัยและพัฒนา เพื่อจะได้รับความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยให้มากยิ่งขึ้น