“เปิด ร่าง พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ฉบับแก้ไข”

ข่าวทั่วไป Wednesday November 7, 2007 16:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--ก.ล.ต.
กฎหมายหลักทรัพย์มีอายุการใช้งานมากว่า 15 ปี ในขณะที่ตลาดทุนทั่วโลกมีวิวัฒนาการไปอย่างรวดเร็ว โดยเรื่องที่ทั้งโลกจับจ้องสนใจในช่วงที่ผ่านมาคือ การกำกับดูแลกิจการ (corporate governance) ซึ่งมีความหมายครอบคลุมหลายองค์กร ตั้งแต่องค์กรกำกับดูแลอย่าง ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ บริษัทที่เสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน ระบบการส่งมอบหลักทรัพย์และชำระราคา รวมถึงบริษัทตัวกลางที่ให้ บริการในตลาดทุน การให้ความสำคัญหรือการยกระดับด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีนี้ มีจุดมุ่งหมาย ที่เข้าใจได้ไม่ยาก คือ เพื่อให้การคุ้มครองผู้ลงทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งเสริมให้เกิด ความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนของประเทศในที่สุดนั่นเอง
จากการรวบรวมประเด็นที่ทำให้การใช้กฎหมายหลักทรัพย์ยังไม่สามารถทำให้ตลาดทุนของประเทศก้าวหน้าพัฒนาไปได้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง ทั้งด้วยการเฝ้าสังเกตและติดตามของ ก.ล.ต. เอง การเสนอตัวให้องค์กรที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เช่น World Bank และ IMF ทำการประเมิน และการรวบรวมความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน รวมทั้งการศึกษาหลักเกณฑ์ของประเทศต่าง ๆ จนวันนี้ ก.ล.ต. มั่นใจว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำการปรับปรุงข้อกำหนดต่าง ๆ ของกฎหมายหลักทรัพย์ จึงได้ทำการยกร่างกฎหมายฉบับแก้ไข นำเสนอตามขั้นตอนกระบวนการในการออกกฎหมาย จนปัจจุบันคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบหลักการ ร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับใหม่ และกำลังเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติ โดยประเด็นที่แก้ไขล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อผู้ลงทุนและตลาดทุนโดยรวมทั้งสิ้น สรุปการแก้ไขได้ 3 ส่วน ดังนี้
1. คุ้มครองให้ประชาชนผู้ลงทุนมีช่องทางเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินการของกิจการที่ลงทุน และสามารถใช้สิทธิคุ้มครองตนเองได้มากยิ่งขึ้น เพิ่มเติมให้ผู้ลงทุน ในตลาดทุนได้รับข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในตราสารที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน และตราสารในรูปแบบใหม่ ๆ
ที่นับวันจะมีความหลากหลายและพัฒนามากยิ่งขึ้น รวมทั้งมีการคุ้มครองทรัพย์สินของผู้ลงทุนได้ดียิ่งขึ้น อันจะเป็นการช่วยรักษาประโยชน์ของผู้ลงทุนโดยรวม นอกจากนี้ ยังเพิ่มความคุ้มครองผู้ร่วมตลาด (market participants) ตลอดจน จัดให้มีกลไกและระบบที่รองรับการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับ
การลงทุนในตลาดทุนที่มีความมั่นคง ลดความเสี่ยงทางกฎหมาย และสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้ง ส่งเสริมการพัฒนาธุรกรรมในตลาดทุน
1.1 เพิ่มความคุ้มครองผู้ลงทุนและยกระดับบรรษัทภิบาลของบริษัทจดทะเบียน
(1) เพิ่มสิทธิให้ประชาชนผู้ลงทุนในหุ้นของบริษัทในตลาดทุนในการเรียกร้องผลประโยชน์ที่กรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทได้รับไปโดยมิชอบคืนเพื่อให้แก่บริษัท และให้ผู้ถือหุ้นดังกล่าวมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีดังกล่าวจากบริษัทตามสมควรตามคำสั่งศาล เนื่องจากเป็นผู้ถือหุ้นที่ดำเนินคดีเพื่อประโยชน์ของบริษัทโดยรวม (มาตรา 89/18-89/19) นอกจากนี้ ยังให้สิทธิผู้ลงทุนที่ได้รับความเสียหายจากข้อมูลที่ได้รับเป็นเท็จหรือขาดสาระสำคัญที่ควรต้องแจ้ง ฟ้องในนามของตนเอง
เพื่อเรียกค่าเสียหายจากกรรมการและผู้บริหารที่รู้เห็นกับการให้ข้อมูลเท็จหรือการขาดสาระสำคัญดังกล่าว (มาตรา 89/20)
(2) เพิ่มสิทธิให้ผู้ลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในการรวมตัวกันเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาบรรจุเป็นวาระในการประชุมผู้ถือหุ้นที่กำลังจะจัดขึ้น เพื่อเป็นช่องทางที่ผู้ลงทุนจะสามารถมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการของบริษัทมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้คณะกรรมการบริษัทปฏิเสธการบรรจุเรื่องที่เสนอได้หากเข้าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เพื่อให้เกิดดุลยภาพระหว่างการมีส่วนร่วมของผู้ลงทุนกับการบริหารกิจการของบริษัทโดยไม่ถูกรบกวนเกินสมควร (มาตรา 89/28) อย่างไรก็ดี บริษัทจะต้องแจ้งเหตุผลที่ปฏิเสธในที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วย นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นยังมีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนมติการประชุมผู้ถือหุ้นกรณีที่คณะกรรมการบริษัทไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ได้อีกด้วย
(3) คุ้มครองให้ผู้ถือหุ้นมีข้อมูลเพียงพอประกอบการตัดสินใจไม่ว่าจะเป็นข้อมูลในหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้น (มาตรา 89/27) ข้อมูลประกอบการมอบฉันทะให้บุคคลที่เสนอตัวต่อผู้ถือหุ้นเป็นการทั่วไป (proxy solicitation) เข้าประชุมแทนตนเองโดยกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ที่เสนอตัวดังกล่าวต้องปฏิบัติ (มาตรา 89/31) รวมทั้งเพิ่มเติมหลักเกณฑ์กำกับดูแลการเปิดเผยข้อมูลและการลงมติของ ผู้ถือหุ้นในการทำรายการที่มีความสำคัญ (มาตรา 89/29)
(4) กำหนดกรอบหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการและผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนให้ชัดเจน เพื่อให้กรรมการและผู้บริหารมีความเข้าใจในหน้าที่และความรับผิดชอบของตน กำหนดบทคุ้มครองกรรมการและผู้บริหารที่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ระมัดระวัง และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของบริษัทเป็นสำคัญ รวมทั้งห้ามบุคคลที่มีลักษณะไม่เหมาะสมเข้ามาเป็นกรรมการและผู้บริหารด้วย เช่น บุคคลล้มละลาย ไร้ความสามารถ ถูกทางการกล่าวโทษ ถูกศาลสั่งลงโทษจำคุก หรือบุคคลที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหรือเอาเปรียบผู้ลงทุน เป็นต้น
นอกจากนี้ ได้กำหนดเกณฑ์กำกับดูแลการทำธุรกิจระหว่างบริษัทจดทะเบียนหรือ บริษัทย่อยกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น กรรมการ ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นใหญ่ เป็นต้น ให้ชัดเจน เช่น ธุรกรรมขนาดใหญ่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้นก่อน เนื่องจากการทำธุรกรรมดังกล่าวอาจเป็นช่องทางให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์ของบริษัทรั่วไหลได้ง่าย อย่างไรก็ดี ยังคงต้องคำนึงถึงการดำเนินธุรกิจของบริษัทควบคู่ไปกับการให้ความคุ้มครองผู้ลงทุนด้วย (มาตรา 89/7-89/13 และมาตรา 281-2)
(5) กำหนดห้ามมิให้กรรมการหรือผู้บริหารที่กระทำการทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจนทำให้บริษัทจดทะเบียนเสียหายหรือเสียประโยชน์ที่ควรได้ ทำการฟอกตัวเอง หรือลบล้างการกระทำผิดของตน โดยใช้วิธีให้ที่ประชุมคณะกรรมการหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงมติอนุมัติหรือให้
สัตยาบันภายหลังเหตุการณ์ ซึ่งตัวอย่างการกระทำดังกล่าว เช่น การขอมติคณะกรรมการหรือที่ประชุม
ผู้ถือหุ้น โดยแสดงข้อความที่เป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกในสาระสำคัญ การเบียดบัง เอาทรัพย์สินหรือประโยชน์ของบริษัท เป็นต้น (มาตรา 89/20)
1.2 กำหนดให้ผู้ออกหลักทรัพย์ไม่ว่าจัดตั้งในรูปแบบใดต้องขออนุญาตต่อ ก.ล.ต. และต้องเปิดเผยข้อมูลในการเสนอขายหลักทรัพย์ทั้งก่อนและหลังการเสนอขายหลักทรัพย์ เพื่อให้สามารถรองรับการระดมทุนของนิติบุคคลรูปแบบใหม่ ๆ ทั้งในและต่างประเทศได้ โดยยกเว้นหลักทรัพย์ที่ถือว่าไม่มีความเสี่ยง เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย หรือหลักทรัพย์อันเป็นตราสารแห่งหนี้ที่มีกระทรวงการคลังค้ำประกันทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวน เป็นต้น
(มาตรา 4 และมาตรา 33)
1.3 ปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีอำนาจควบคุมกิจการของบริษัทในตลาดทุนที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดังนี้
(1) กำหนดให้ผู้ถือหลักทรัพย์หรือตราสารที่ออกโดยบุคคลอื่น ซึ่งผู้ถือมีสิทธิใน
การรับมอบหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน มีหน้าที่รายงานการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการถือครองหลักทรัพย์หรือตราสารนั้น เพื่อให้ผู้ลงทุนมีฐานข้อมูลความเคลื่อนไหวของบุคคลที่อาจเข้ามาเป็น
ผู้ถือหุ้นจำนวนที่มีนัยสำคัญในอนาคตได้ครบถ้วนมากยิ่งขึ้น (มาตรา 246)
(2) เพิ่มหลักเกณฑ์สำหรับกรณีการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการโดยร่วมกับบุคคลอื่นที่ทำให้มีอำนาจควบคุมกิจการของบริษัทจดทะเบียน (acting in concert) เพื่อให้สะท้อนถึงอำนาจควบคุมที่แท้จริงของบุคคลที่ร่วมกันได้มาและใช้อำนาจควบคุมในกิจการดังกล่าว (มาตรา 247)
(3) เพิ่มการนับรวมหลักทรัพย์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้มีหน้าที่รายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์และผู้มีหน้าที่ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ให้ครอบคลุมถึงผู้ควบคุม (controlling person)บุคคลดังกล่าวด้วย จากเดิมที่นับรวมเฉพาะกับผู้ที่ถูกควบคุม (controlled person) (มาตรา 258)
(4) เพิ่มความคุ้มครองให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทในตลาดทุน ในกรณีที่กรรมการหรือผู้บริหารพยายามป้องกันไม่ให้บุคคลอื่นมาครอบงำกิจการ (anti-takeover mechanism) โดยกำหนดให้การป้องกันดังกล่าวต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งกรรมการหรือผู้บริหารต้องรับผิดชอบส่วนตัวหากไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว (มาตรา 250/1)
1.4 เสริมสร้างความเชื่อมั่นในการคุ้มครองทรัพย์สินของผู้ลงทุนในตลาดทุน โดยกำหนดให้ชัดเจนว่าทรัพย์สินของลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ (มาตรา 111/1) หรือสมาชิกของสำนักหักบัญชีได้รับความคุ้มครองและไม่ได้รับผลกระทบจากการที่บริษัทหลักทรัพย์หรือสำนักหักบัญชีล้มละลายหรือ ถูกบังคับคดี นอกจากนี้ ยังเพิ่มความคุ้มครองระบบการส่งมอบและชำระราคาในการซื้อขายหลักทรัพย์ ให้มากยิ่งขึ้น (มาตรา 223/1 ถึง 223/5)
1.5 ปรับปรุงกรอบการกำกับดูแลบริษัทหลักทรัพย์ให้ยืดหยุ่นขึ้นเพื่อรองรับโครงสร้างของกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนไปในลักษณะที่เป็น financial conglomerate โดยผ่อนคลายให้บริษัทหลักทรัพย์แต่งตั้งผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์อื่นเป็นผู้บริหารของบริษัทได้ (cross director) และยกเลิกข้อห้ามผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ไปเป็นผู้มีอำนาจจัดการห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ตนเองหรือผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นหุ้นส่วนหรือถือหุ้นอยู่ (มาตรา 103(4) และ (8))
1.6 ปรับปรุงกรอบการกำกับดูแลตลาดรอง ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และสามารถตอบสนองต่อสภาวการณ์ตลาดการเงินที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจสั่งการให้ตลาดหลักทรัพย์ออกกฎเกณฑ์ใหม่ แก้ไข
หรือยกเลิกกฎเกณฑ์เดิมได้ ในกรณีที่กฎเกณฑ์ที่มีอยู่ไม่เพียงพอหรือไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์
(มาตรา 170/1)
1.7 รองรับให้ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนสามารถดำเนินการไปได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น เช่น ให้เจ้าหนี้สามารถบังคับขายหลักทรัพย์จดทะเบียนที่ลูกหนี้นำมาจำนำเป็นหลักประกันโดยสามารถเลือกที่จะขายในตลาดหลักทรัพย์หรือขายทอดตลาดก็ได้ (มาตรา 196) กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถใช้ระบบการโอนหลักทรัพย์ในระบบไร้ใบหลักทรัพย์ได้ เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย
ทำหน้าที่เป็นศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ สำนักหักบัญชี หรือนายทะเบียนหลักทรัพย์ (มาตรา 229) ตลอดจนรองรับให้สามารถนำระบบการโอนหลักทรัพย์แบบไร้ใบหลักทรัพย์มาใช้กับการรับฝากหลักทรัพย์ไว้กับศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ที่ประกอบการโดยบุคคลอื่น (ไม่ใช่ตลาดหลักทรัพย์) ได้ด้วย (มาตรา 228/2)
2. ปรับปรุงให้องค์กรกำกับดูแลตลาดทุนมีโครงสร้างที่รองรับการปฏิบัติงานได้อย่างคล่องตัว ทันการ สามารถตอบสนองต่อสภาวการณ์ของตลาดการเงินโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีการดำเนินการที่เป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง แต่ในขณะเดียวกันองค์กรกำกับดูแลจะต้องอยู่ภายใต้กลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจตามกฎหมายอย่างเหมาะสม
2.1 ปรับปรุงที่มา องค์ประกอบ คุณสมบัติ วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในสาระสำคัญได้กำหนดให้ประธานกรรมการมาจากผู้ทรงคุณวุฒิ แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผ่านกระบวนการคัดเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือก ซึ่งประกอบด้วย อดีตข้าราชการ และอดีตผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงานของรัฐ และมีระเบียบการเสนอชื่อการพิจารณาและการคัดเลือกที่โปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ โดยให้ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 6 ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว (ก.ล.ต.: มาตรา 8-11 และ มาตรา 13 คณะกรรมการคัดเลือก : มาตรา 31/3-31/7)
2.2 เพิ่มคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ทำหน้าที่ออกกฎเกณฑ์ในระดับที่เป็นหลักเกณฑ์การปฏิบัติไม่ใช่ระดับนโยบาย เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน และแบ่งเบาภาระของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ให้สามารถมุ่งเน้นในด้านนโยบายในการกำกับและพัฒนาตลาดทุนในภาพรวม เป็นสำคัญ คณะกรรมการชุดนี้จะมีเลขาธิการเป็นประธาน รองเลขาธิการ และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเป็นกรรมการเสียงข้างมาก ซึ่งผ่านการคัดเลือกในระดับเดียวกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ก.ล.ต. และโดยที่คณะกรรมการชุดนี้มีความใกล้ชิดกับการกำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติ จึงกำหนดกลไกการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยให้กรรมการจัดทำรายงานการถือหลักทรัพย์ยื่นต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. เมื่อเข้ารับตำแหน่งและเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ (มาตรา 16/1-16/7)
2.3 เพิ่มมาตรการป้องกันมิให้เลขาธิการ ก.ล.ต. นำข้อมูลที่ได้ทราบขณะดำรงตำแหน่งไปแสวงหาประโยชน์ภายหลังจากพ้นจากตำแหน่ง โดยห้ามอดีตเลขาธิการไปรับทำงานให้แก่บุคคลที่ถูกกำกับดูแลตามกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เป็นเวลา 1 ปี (มาตรา 22/1)
2.4 ปรับปรุงกลไกการสอบทานระบบควบคุมภายในของ ก.ล.ต. ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเพิ่มคณะกรรมการตรวจสอบทำหน้าที่สอบทานรายงานและข้อมูลทางการเงินของ ก.ล.ต. ประสานงานกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตลอดจนสอบทานการปฏิบัติตามกฎระเบียบต่าง ๆ (มาตรา 14/1-14/2)
3. เพิ่มกลไกสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มช่องทางในการแสวงหาความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
3.1 เพิ่มความคุ้มครองผู้ให้เบาะแสเกี่ยวกับการกระทำความผิด(whistleblower protection)
โดยห้ามบริษัทหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน กลั่นแกล้งหรือกระทำการอันไม่เป็นธรรมต่อพนักงาน ลูกจ้าง หรือบุคคลที่รับจ้างทำงานให้บริษัท ไม่ว่าจะเป็นที่ปรึกษา หรือผู้สอบบัญชี ที่ให้เบาะแสเกี่ยวกับ
การกระทำความผิดตามกฎหมายหลักทรัพย์ต่อทางการโดยสุจริต บริษัทที่ฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าวจะมีโทษอาญา นอกจากนี้ ร่างกฎหมายที่เสนอยังคุ้มครองผู้ให้เบาะแสไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาอันเนื่องมาจากการให้เบาะแสดังกล่าวด้วย (มาตรา 89/2 และมาตรา 281/1)
3.2 กำหนดให้ผู้สอบบัญชีของบริษัทหลักทรัพย์รายงานไปยังคณะกรรมการตรวจสอบและคณะกรรมการของบริษัท เมื่อพบกรณีอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดกฎหมายหลักทรัพย์ และให้คณะกรรมการตรวจสอบมีหน้าที่แจ้งต่อ ก.ล.ต. ภายในระยะเวลาที่กำหนด (มาตรา 89/25 และมาตรา 281/8)
3.3 รองรับให้ ก.ล.ต. สามารถให้ความร่วมมือในการตรวจสอบและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศ เพื่อประโยชน์ในการแสวงหาความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (มาตรา 264/1)
3.4 เพิ่มเติมให้ผู้จับ ผู้นำจับ หรือผู้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายในและการปั่นราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ สามารถได้รับเงินสินบนที่จ่ายจากเงินค่าปรับ แต่ทั้งนี้ กรรมการ ก.ล.ต. กรรมการกำกับตลาดทุน เลขาธิการ พนักงานของ ก.ล.ต. หรือบุคลากรของ
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานตามกฎหมายหลักทรัพย์อยู่แล้ว ไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว (มาตรา 315/1)
การแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ครั้งนี้ ก.ล.ต. มีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับบรรษัทภิบาลในตลาดทุนไทย และการบริหารงานภายในองค์กรเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และหวังว่ากฎหมายฉบับนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุนและตลาดทุนโดยรวม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ