กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--สพร.
สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ร่วมกับคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาปรัชญา สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมในประเทศไทยเพื่อจัดทำแผนที่วัฒนธรรม : ภาคเหนือ” วันที่ 28- 29 กันยายน 2550 ณ โรงแรมเซ็นทารา ดวงตะวัน จังหวัดเชียงใหม่
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ กล่าวว่าในฐานะที่ สพร. มีหน้าที่หลักในการบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ ด้านการจัดการเรียนรู้และการบริหารจัดการการศึกษาในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ของประเทศไทย เพื่อให้พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ เป็นแหล่งเรียนรู้ในเรื่องความเป็นมาในอดีตจนปัจจุบันของผู้คนและดินแดนในประเทศไทย
การสัมมนาทางวิชาการในครั้งนี้ จึงสอดคล้องถึงวัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่ต้องการสร้างและพัฒนาองค์ความรู้สาขาต่างๆ ในเชิงบูรณาการ ที่เป็นการศึกษาถึงความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมภาคเหนือที่มีผลกระทบจากกระแสวัฒนธรรมแบบโลกาภิวัฒน์ต่อขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น รวมถึงผลกระทบทางกายภาพและสิ่งแวดล้อม จากการขยายตัวของเมืองเป็นแบบตะวันตก จนเกิดช่องว่างระหว่างวัฒนธรรมเมืองกับชนบทอย่างมาก ผลกระทบนี้ส่งผลให้ร่องรอยทางวัฒนธรรมและองค์ความรู้ที่สั่งสมมาตั้งแต่อดีตค่อยๆ เลือนหายไป
สพร. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาและส่งเสริมการศึกษาค้นคว้าและวิจัยเรื่องวัฒนธรรมร่วมภูมิภาค และเป็นข้อมูลสำหรับโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในศูนย์การเรียนรู้อีกด้วย จึงกำหนดให้มีการสัมมนาเรื่อง “ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมในประเทศไทยเพื่อจัดทำแผนที่วัฒนธรรม : ภาคเหนือ” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัฒนธรรม นักวิชาการที่ศึกษาค้นคว้าเรื่องวัฒนธรรมด้านต่างๆ ในภาคเหนือ และนักวิจัยที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ปราณี กุลละวณิชย์ อาจารย์วิถี พานิชพันธ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุนันทา ฟาเบรอ และ ศาสตราจารย์ ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ เป็นต้น เข้าร่วมสัมมนา และอภิปรายในหมวดต่างๆ ได้แก่ กลุ่มภาษาและวรรณกรรม กลุ่มวิถีชีวิตและสถาปัตยกรรม กลุ่มประวัติศาสตร์และโบราณคดี กลุ่มดนตรีและศิลปะการแสดง และ กลุ่มศิลปะและหัตถกรรม
ศาสตราจารย์ ปรีชา ช้างขวัญยืน ประธานกรรมการสภาการวิจัยแห่งชาติ สาขาปรัชญา กล่าวว่า การศึกษาความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากสังคมไทยประกอบด้วยคนหลายกลุ่มที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกัน ทำให้เกิดความแตกต่างในเรื่องระบบความคิด และทุกอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่อีกแง่หนึ่งก็มีความสัมพันธ์ และการรับวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน อันเป็นเหตุให้มีการแพร่วัฒนธรรมไปในระหว่างภูมิภาค และภาคเหนือก็เป็นอีกพื้นที่ที่มีผลกระทบจากกระแสวัฒนธรรมแบบโลกาภิวัฒน์ด้วยเช่นกัน
การสัมมนาครั้งนี้ให้ความสำคัญของการพัฒนาและส่งเสริมการศึกษาค้นคว้า และวิจัยเรื่องวัฒนธรรมร่วมภูมิภาค อันจะก่อให้เกิดมูลค่าและคุณค่าทางวัฒนธรรม และนำไปสู่การจัดทำแผนที่วัฒนธรรมภาคเหนือ และสามารถเชื่อมโยงไปสู่แผนที่วัฒนธรรม 4 ภูมิภาค ของประเทศไทยตามที่คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาปรัชญาได้กำหนดไว้ต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
รุ่งทิวา ศักดิ์วิทย์ หรือ ณัฐกานต์ จันทร์ไทย ฝ่ายประชาสัมพันธ์
โทร ๐-๒๓๕๗-๓๙๙๙ ต่อ ๑๖๒ หรือ โทร./ โทรสาร ๐-๒๓๕๗-๔๐๐๕