กรุงเทพฯ--24 พ.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ กระทรวงอุตสาหกรรม พัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่ Industry 4.0 และพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรม (S-Curve) พร้อมผลักดันมาตรการขับเคลื่อน SMEs สู่ Global Value Chain ผ่าน Digital Platform
การหารือดังกล่าวจัดขึ้นในวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ โดยหลังการหารือ นำโดย นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุม นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานร่วมภาครัฐ และนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธานร่วมภาคเอกชน โดยการประชุมหารือร่วมกันในครั้งนี้ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้กำหนดประเด็นความร่วมมือให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ของกระทรวงอุตสาหกรรม ดังนี้
1. การพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่ Industry 4.0 และพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรม (S-Curve) ซึ่งมีหัวข้อสำคัญในการดำเนินงาน คือ การบูรณาการความร่วมมือการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 การเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยระบบอัตโนมัติและดิจิทัล การพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรม 4.0 การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 และการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยร่วมมือกันจัดทำฐานข้อมูลผู้ประกอบการอุตสาหกรรม รวมทั้งนำผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมือ/เครื่องจักร ของ Big Brother เข้ามาช่วยผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมายศักยภาพ นำร่อง 4 สาขา ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมชีวภาพ และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร
2. มาตรการขับเคลื่อน SMEs สู่ยุค 4.0 มีการขยายบริการศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) ทั่วประเทศ จัดทำหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) ผลักดัน SMEs สู่ Global Value Chain ผ่าน Digital Platform B2B การกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.S)ส.อ.ท.ได้จัดหาผู้ประกอบการ Big Brother เข้ามาร่วมโครงการ ITC เพื่อสนับสนุนเครื่องมือเครื่องจักรที่ทันสมัย มาสนับสนุนโครงการ ส่วนการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรม ส.อ.ท.ได้ดำเนินการรวบรวมรายชื่อของสถานประกอบการ เพื่อนำมา Matching ในโครงการ CIV รวมทั้งผลักดัน SMEs สู่ Global Value Chain โดยการพัฒนาระบบ T-Good Tech เพื่อเชื่อมโยง SMEs ไทย กับบริษัททั่วโลก ผ่าน Platform Biz to Biz โดยอาศัยฐานข้อมูลของ ส.อ.ท. (F.T.I. E-Business)
3. การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน มีการจัดระดับโรงงานอุตสาหกรรม ส่งเสริมการทำ Symbiosis และ Circular Economyการจัดการกากของเสียที่ดี และเสนองบประมาณโครงการพัฒนาระบบรายงานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมอัจริยะ โดยการประชาสัมพันธ์ให้สมาชิก ส.อ.ท. เข้าสู่ระบบการจัดการกากอุตสาหกรรมในระบบออนไลน์ จัดตั้งสมาคมหรือจัดตั้งเครือข่าย กลุ่มผู้ขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตราย (WT) เพื่อกำหนดเกณฑ์ยกระดับเงื่อนไขอื่น ๆ และขอความร่วมมือให้สมาชิก ส.อ.ท. รายงานข้อมูลในระบบรายงานข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนดให้ครบถ้วน
4. การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ มีการจัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการฯ 15 จังหวัด 18 พื้นที่โดยจัดทำโครงการพัฒนาและยกระดับเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสู่เมืองสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ของ กนอ. ด้านความร่วมมือ ทาง ส.อ.ท. จะประชาสัมพันธ์แก่สมาชิกในพื้นที่เป้าหมาย 15 จังหวัด 18 พื้นที่ รวมถึงประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้สมาชิกเข้าร่วมโครงการ CSR-DIW และเข้าร่วมอุตสาหกรรมสีเขียว ส่วนทาง อก. ได้รับมอบหมายให้แจ้งผู้ประกอบการที่ได้รับรองอุตสาหกรรมสีเขียวที่ผ่านระดับ 4 เข้าร่วมโครงการ Eco Factory จัดทำคู่มือเกณฑ์โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และระบบการรับรอง Eco Factory ร่วมกัน
5. การแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการประกอบการอุตสาหกรรม มีการแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านผังเมืองที่มีผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม โดย ส.อ.ท. จะประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกเข้าสู่ระบบการจัดการ และจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่าง สภาอุตสาหกรรมจังหวัด และอุตสาหกรรมจังหวัด ทำหน้าที่ประสานกับกรมโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด เพื่อให้ข้อคิดเห็น และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการกำหนดบัญชีแนบท้ายกฎกระทรวงให้เหมาะสมกับความต้องการของชุมชน และภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่นั้น นายสุพันธุ์กล่าว
ทั้งนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการขึ้น เพื่อดูแลและขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม ดังนี้
1) คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม
(นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานคณะทำงาน)
(นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ประธานคณะทำงานร่วม)
2) คณะทำงานพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ (Industry 4.0 & New S-curve)
(นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานคณะทำงานร่วม)
3) คณะทำงานแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการประกอบการอุตสาหกรรม
(นายธนารักษ์ พงษ์เภตรา ประธานคณะทำงานร่วม)
4) คณะทำงานการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน
(นายสมชาย หวังวัฒนาพานิช ประธานคณะทำงานร่วม)
5) คณะทำงานพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่
(นายทวี ปิยะพัฒนา ประธานคณะทำงานร่วม)
6) คณะทำงานเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
(นายปรีชา ส่งวัฒนา ประธานคณะทำงานร่วม)