กรุงเทพฯ--24 พ.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
วันนี้ (24 พฤษภาคม 2561) พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังให้การต้อนรับนายกาเบรียล มาโตและนางคาล่า การ์เซียรองประธานกรรมาธิการประมงแห่งรัฐสภายุโรป สมาชิกรัฐสภายุโรปในโอกาสมาเข้าร่วมการประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการปลาทูน่าแห่งมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างวันที่ 21 - 25 พฤษภาคม 2561 ณ ห้องรับรอง ทำเนียบรัฐบาลว่า ส.ส.อียูทั้งสองท่านเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายเพื่อให้เกิดการประมงอย่างยั่งยืนในทุกภูมิภาคของโลก ซึ่งในนามตัวแทนรัฐบาลผมได้ยืนยันความตั้งใจของไทยในการปฏิรูปการประมงให้เกิดความยั่งยืนในทุกมิติ รวมถึงการปรับปรุงการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในภาคประมง โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อผู้กระทำผิด ที่ปัจจุบันในภาพรวมมีจำนวนคดี 4,427 คดี มีผลตัดสินแล้วจำนวน 3,883 คดี คิดเป็น 88% แบ่งเป็น ความผิดที่เกี่ยวกับเรือ ได้แก่ ไม่ติดตั้ง VMSไม่แจ้งจุดจอดเรือเรือสนับสนุนการประมงไม่ติดตั้ง VMS และไม่นำเรือมาทำอัตลักษณ์ จำนวน 2,982 คดี ความผิดเกี่ยวกับการทำประมง ได้แก่ เรือนอกน่านน้ำเรือไทยทำประมงในน่านน้ำไทย และเรือต่างชาติทำประมงในน่านน้ำไทย จำนวน 1,280 คดี ความผิดด้านแรงงานในสถานแปรรูปสัตว์น้ำ 77 คดี ความผิดด้านค้ามนุษย์ภาคประมง 88 คดี
ทั้งนี้ นอกจากการดำเนินคดีแล้ว ตั้งแต่ 1 ต.ค.60- 23 พ.ค.61 ศูนย์ PIPO ได้ออกคำสั่งให้เจ้าของเรือประมงปฏิบัติให้ถูกต้องเกี่ยวกับการดูแลลูกจ้างมิฉะนั้นจะไม่ให้ออกทำการประมง เช่น สัญญาจ้างที่ไม่สมบูรณ์ การไม่ปรับปรุงทะเบียนลูกจ้าง การค้างจ่ายค่าจ้าง จำนวน 179 ลำ โดยเจ้าของเรือทุกลำได้ปรับปรุงแก้ไขตามคำสั่งเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งได้กล่าวย้ำถึงความจริงจังของรัฐบาลในการลงโทษผู้กระทำผิด เช่น การลงโทษคดีประมงที่สำคัญ คือ คดีกลุ่มเรือยู่หลงศาลตัดสินเมื่อ 28 ธ.ค.60 ลงโทษปรับ 130 ล้านบาท กลุ่มเรือ เซริบูศาลตัดสินเมื่อ 28 ก.พ. 61ปรับ 88.16 ล้านบาทและกลุ่มเรือ มุกอันดามันศาลตัดสินเมื่อ11 พ.ค. 61 ลงโทษปรับ 223 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ส.ส.อียูได้ให้ความสนใจในการให้สัตยาบันอนุสัญญาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขจัดแรงงานบังคับและการปรับปรุงคุณภาพชีวิตแรงงานภาคประมง ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดกรอบเวลาการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 188ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง (C-188 ) และยกร่างกฎหมายรองรับการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 188เพื่อประกาศในราชกิจจานุเษกษาให้แล้วเสร็จภายในก.ย. 61 ส่วนการให้สัตยาบันพิธีสารส่วนเสริมฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับกระทรวงแรงงานซึ่งจะเข้าร่วมประชุม ILO ณ นครเจนีวา พร้อมด้วยหนังสือสัตยาบันสาร ในวันที่ 4 มิ.ย.61 และร่าง พรบ. ป้องกันและปราบปรามการใช้แรงงานบังคับเพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายในเดือน ก.ย.61รวมถึงการแต่งตั้งคณะทำงานส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ในกิจการประมงทะเล ตั้งแต่วันที่ 19 ก.พ.61 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มของแรงงานข้ามชาติภาคประมง ซึ่งในคณะทำงานนี้มีผู้แทน NGO ต่างๆ มาร่วมด้วย คือ EJF, HRW, LPN, STELLA MARIS รวมถึงองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือILO ด้วย มีเป้าหมายให้เกิดองค์กรลูกจ้างประมงทะเลในทุกจังหวัดชายทะเล 22 จังหวัด อย่างน้อยจังหวัดละ 1 องค์กร ภายในก.ย. 61 เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการรวมตัวของลูกจ้างประมงทะเลด้วย
"ผมได้ยืนยันว่าการดำเนินการทั้งหมดไม่เกี่ยวข้องกับการปลดหรือไม่ปลดใบเหลืองให้ไทย เพราะไทยได้มองข้ามประเด็นนี้ไปนานแล้ว แต่มองไปถึงการทำประมงที่ยั่งยืน ซึ่งสหภาพยุโรปจะเป็นพันธมิตรสำคัญในการทำงานร่วมกัน โดยประเทศไทยกำลังผลักดันนโยบายประมงร่วมอาเซียน (ASEAN Common Fisheries Policy) รวมถึงการจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจต่อต้าน IUU ของอาเซียน (ASEAN IUU Task Force) ให้เกิดขึ้นในปีหน้าที่ประเทศไทยจะเป็นประธานอาเซียน ซึ่งส.ส.อียู ทั้งสองได้กล่าวชื่นชมความก้าวหน้าการทำงานของประเทศไทย และเห็นว่าประเทศไทยมีทิศทางการทำงานที่ถูกต้องในการเข้าสู่เป้าหมายการทำประมงอย่างยั่งยืน(Ocean Governance) ความก้าวหน้าของประเทศไทยจะเป็นตัวอย่างที่สำคัญของประเทศที่มีความจริงจังในการปฏิรูป ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับทวีป ดังนั้นสหภาพยุโรปจึงพร้อมให้การสนับสนุนการทำงานเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง" พลเอกฉัตรชัย กล่าว