กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--กระทรวงพลังงาน
ก.พลังงาน เปิดตัวสวนพลังงานแสงอาทิตย์ เชื่อเป็นศูนย์กลางการการสาธิต การเรียนรู้ วิจัย พัฒนา ของนานาประเทศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน ได้ตระหนักถึงความสำคัญ ของการศึกษาวิจัยด้านพลังงาน จึงได้สนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ในการศึกษา วิจัย และพัฒนาเกี่ยวกับเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและพลังงานทดแทน มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการศึกษาและวิเคราะห์หาแนวทางในการนำความร้อนทิ้งกลับมาใช้ใหม่ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำระดับหมู่บ้าน เป็นต้น โดยการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และ “สวนพลังงานแสงอาทิตย์” เป็นอีกโครงการ ที่กองทุนฯ ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณจำนวน 80 ล้านบาท ให้แก่มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อจัดสร้างสวนพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้นในประเทศไทย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางแห่งความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สำหรับเป็นสถานที่ศึกษาวิจัย สาธิตและฝึกอบรมการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านแสงอาทิตย์ ร่วมทั้งยังเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมธุรกิจด้านพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อเป็นตลาดกลางในการซื้อขายอุปกรณ์ในราคาที่ยุติธรรมอีกด้วย
“สวนพลังงานฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร จะเป็นแบบอย่างด้านการเรียนรู้ การศึกษาวิจัยพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยีพลังงานทดแทน สู่อุตสาหกรรม เป็นธุรกิจเชิงพาณิชย์ และที่สำคัญยังเป็นแหล่งกลางความร่วมมือการพัฒนาความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ระหว่างประเทศ ซึ่งจะได้การเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านพลังงานที่สำคัญยิ่งของประเทศไทยและประเทศภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง”นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.วัฒนพงษ์ รักษ์วิเชียร์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า สวนพลังงานแสงอาทิตย์ ได้จัดสร้างบนพื้นที่ประมาณ 60 ไร่ ในมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ด้วยการสนับสนุนค่าก่อสร้าง จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยในส่วนการติดตั้งระบบและอุปกรณ์ ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ มีมูลค่ารวมถึง 500 ล้านบาท โดยมีรูปแบบและเอกลักษณ์ที่เป็นเมืองพลังงานทดแทน ซึ่งมีระบบการใช้งานของพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ ได้แก่ เครื่องอบแห้ง เครื่องทำน้ำร้อน เครื่องผลิตไอน้ำความดันสูง และเครื่องปรับอากาศพลังงานแสงอาทิตย์ การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล การผลิตไฟฟ้าจากเซลแสงอาทิตย์ และไฟฟ้าจากความร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ อุณภูมิสูง ซึ่งสาธิตการใช้ไฟฟ้าทั้งในระบบ Stand Alone และGrid Connection
สำหรับในส่วนของสวนพลังงานฯ ได้มีการแบ่งพื้นที่การเรียนรู้ออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่ 1.ส่วนทดสอบ มาตรฐานอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นสถานที่ในการทดสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ 2.ส่วนบริการและฝึกอบรม เป็นการให้พื้นฐานความรู้ทางด้านพลังงานแสงอาทิตย์แก่เยาวชน นักศึกษา รวมทั้งยังเป็นสถานที่อบรมวิธีการใช้ ซ่อมบำรุง 3.ส่วนสาธิต การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ จะให้ความรู้เกี่ยวกับระบบการทำงานของอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ในสภาพการใช้งานจริง 4.ส่วนศูนย์ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ จะเป็นศูนย์กลางการส่งเสริมและการซื้อขายวัสดุอุปกรณ์ด้านพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งบริการก่อนและหลังการขาย การติดตั้ง การดูแล บำรุงรักษา และ 5.ส่วนหมู่บ้าน พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นหมู่บ้านตัวอย่างที่จัดสร้างขึ้นให้มีการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ทั้งหมด สามารถเข้าอยู่อาศัยได้ ภายในบ้านประกอบไปด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เช่น ระบบแสงสว่าง เครื่องทำน้ำร้อน เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
“สวนพลังงานฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร ถือเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษา การฝึกอบรม การพัฒนาบุคลากร ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก สาขาพลังงานทดแทนให้แก่ประเทศไทยและนานาชาติทั่วโลก พร้อมกันนี้ มหาวิทยาลัยนเรศวรจะใช้สวนพลังงานฯ แห่งนี้ ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสนองตอบต่อนโยบายของรัฐต่อไป” ดร.วัฒนพงษ์ กล่าว